คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 3.2.1 จำเลยกำหนด ให้พนักงานต้องบันทึกเวลาเข้าทำงานและเลิกงานด้วยตนเองทุกครั้ง ห้ามบันทึกเวลาแทนผู้อื่นหรือรู้เห็นเป็นใจ ให้ผู้อื่นบันทึกเวลาให้ นอกจากนี้ตามประกาศ เรื่องการขาดงาน ของจำเลยกำหนดว่า หากพนักงานขาดงานจำเลยจะไม่จ่ายค่าจ้างตามจำนวนชั่วโมงที่ขาดงาน และโจทก์ยอมรับว่าลูกจ้างรายวันและลูกจ้างรายเดือนหากขาดงานจะถูกตัดค่าจ้างตามจำนวนชั่วโมงที่ขาดงาน ดังนี้ การที่ในวันเกิดเหตุเวลาซึ่งเป็นเวลาทำงานโจทก์ออกจากบริษัทจำเลยโดยไม่ได้ขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาหลังจากนั้นโจทก์ไม่ได้กลับไปทำงานจนถึงเวลา 17 นาฬิกาซึ่งเป็นเวลาเลิกงานจึงเป็นการที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่เวลาประมาณ 13 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา การที่โจทก์โทรศัพท์ให้บุคคลอื่นลงเวลาเลิกงานแทนโจทก์ว่าโจทก์เลิกงานเวลา17.20 นาฬิกา จึงเป็นการลงเวลาเลิกงานผิดไปจากความจริงทั้งที่โจทก์ไม่ได้ทำงานประมาณ 4 ชั่วโมง การลงเวลาทำงานดังกล่าวนอกจากจะเป็นหลักฐานแสดงถึงระยะเวลาที่โจทก์อยู่ปฏิบัติงานแล้ว ยังเป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายค่าจ้างในแต่ละชั่วโมงที่โจทก์ทำงานอีกด้วย การกระทำของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงแล้วแม้จำเลยได้นำเงินค่าจ้างของโจทก์ในงวดดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์ไปก่อนโดยมิได้ยับยั้งการจ่ายค่าจ้างเฉพาะจำนวนชั่วโมงที่โจทก์ขาดงานดังกล่าวก็ตาม จำเลยก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการ บอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่เลขานุการผู้จัดการทั่วไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้ทราบตามกฎหมาย โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวน 28,500 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 6,016 บาท แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวรวมจำนวน 34,516 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2540 ระหว่างเวลา13 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาทำงานปกติ โจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่ออกไปนอกบริษัทจำเลยโดยไม่มีเหตุอันสมควร และไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ต่อมาเวลาประมาณ 19 นาฬิกา โจทก์โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของจำเลยให้บันทึกเวลาเลิกงานในวันดังกล่าวว่าเลิกงานเวลา 17.20 นาฬิกา โดยอ้างว่าไปทำธุระให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งไม่เป็นความจริง การกระทำของโจทก์เป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง เพราะลูกจ้างคนใดไม่เข้าทำงานหรือขาดงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาจะไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับวันเวลาที่ไม่ได้เข้าทำงานนอกจากนี้บัตรตอกเวลาเป็นหลักฐานในการคำนวณค่าจ้างและผลประโยชน์อื่นที่ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับ รวมทั้งเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือประเมินผลการทำงานด้วยการกระทำของโจทก์จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยในกรณีร้ายแรงและเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามหนังสือเลิกจ้างโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า การที่โจทก์ให้ผู้อื่นลงเวลาเลิกงานแทนยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวน 28,500 บาทและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 6,016 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ให้บุคคลอื่นลงเวลาเลิกงานแทนทั้งที่โจทก์ไม่ได้ทำงาน จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงนั้น เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวด 9 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 3.2.1 จำเลยกำหนดให้พนักงานต้องบันทึกเวลาเข้าทำงานและเลิกงานด้วยตนเองทุกครั้ง ห้ามบันทึกเวลาแทนผู้อื่นหรือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้อื่นบันทึกเวลาให้ นอกจากนี้ตามประกาศ เรื่องการขาดงาน จำเลยกำหนดว่า หากพนักงานขาดงานจำเลยจะไม่จ่ายค่าจ้างตามจำนวนชั่วโมงที่ขาดงาน โจทก์ก็ยอมรับว่าลูกจ้างรายวันและลูกจ้างรายเดือนหากขาดงานจะต้องถูกตัดค่าจ้างตามจำนวนชั่วโมงที่ขาดงาน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2540 เวลาประมาณ13 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาทำงานโจทก์ออกจากบริษัทจำเลยโดยไม่ได้ขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชา หลังจากนั้นโจทก์ไม่ได้กลับไปทำงานจนถึงเวลา 17 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาเลิกงาน จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่เวลาประมาณ 13 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา การที่โจทก์โทรศัพท์ให้บุคคลอื่นลงเวลาเลิกงานแทนโจทก์ว่าโจทก์เลิกงานเวลา 17.20 นาฬิกาจึงเป็นการลงเวลาเลิกงานผิดไปจากความจริงทั้งที่โจทก์ไม่ได้ทำงานประมาณ 4 ชั่วโมง เห็นได้ว่า การลงเวลาทำงานดังกล่าวนอกจากจะเป็นหลักฐานแสดงถึงระยะเวลาที่โจทก์อยู่ปฏิบัติงานแล้วยังเป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายค่าจ้างในแต่ละชั่วโมงที่โจทก์ทำงานอีกด้วย แม้วันที่25 เมษายน 2540 จำเลยนำเงินค่าจ้างของโจทก์งวดวันที่ 16 ถึง 30เมษายน 2540 เข้าบัญชีของโจทก์ไปก่อนโดยมิได้ยับยั้งการจ่ายค่าจ้างเฉพาะจำนวนชั่วโมงที่โจทก์ขาดงานดังกล่าวก็ตาม การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share