คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1904/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนผู้เสียหายไม่ได้กล่าวหาและเจ้าพนักงานตำรวจก็มิได้ตั้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยพนักงานสอบสวนเพิ่งมาแจ้งข้อหานี้หลังจากเกิดเหตุแล้วหลายเดือน แต่ไม่ได้สอบปากคำผู้เสียหายหรือตรวจยึดได้อาวุธปืนของกลางแต่อย่างใดคงมีเพียงกระสุนปืนที่ผู้เสียหายนำมามอบให้หลังเกิดเหตุแล้วหลายวัน ซึ่งตามบัญชีของกลางกลับระบุว่ากระสุนปืนดังกล่าวจำเลยที่ 2 นำมามอบให้ผู้เสียหายในวันเกิดเหตุอันแตกต่างจากที่ผู้เสียหายเบิกความไว้ ทำให้น่าสงสัยว่าจำเลยทั้งสองมีและพาอาวุธปืนมายังที่เกิดเหตุจริงหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ที่ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง และเมื่อเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213ประกอบด้วยมาตรา 225
จำเลยที่ 1 นำบันไดเหล็กแบบพับขาไปกางตั้งวางริมหน้าต่างชั้นบนบ้านผู้เสียหายและปีนไปเรียกผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายเปิดประตูออกมา จำเลยที่ 1 กอดอุ้มผู้เสียหายและกระทำอนาจารปลุกปล้ำผู้เสียหายที่บริเวณสนามหญ้าข้างหน้าบ้านพักผู้เสียหาย แม้สนามหญ้าดังกล่าวกับบ้านพักไม่มีรั้วล้อมรอบ และไม่มีเครื่องหมายแสดงให้ทราบว่าเป็นแนวเขตของบ้านพักก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าบริเวณดังกล่าวอยู่ข้างหน้าบ้านพักซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายในเวลากลางคืนอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข และกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายอันเป็นการกระทำต่อเนื่องไม่ขาดตอนกัน จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2537 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ มีอาวุธปืนพกไม่มีเครื่องหมายทะเบียน และกระสุนปืนลูกซองเบอร์ 20 จำนวน 1 นัด โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และพาอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะ โดยเปิดเผย โดยไม่มีเหตุอันสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในบ้านพักอันเป็นเคหสถาน ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยของนางสาว ก. ผู้เสียหาย แล้วกระทำอนาจารผู้เสียหายโดยใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำกดผู้เสียหายให้นอนลง แล้วนอนทับกอดจูบและลูบคลำร่างกาย โดยผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองและยึดกระสุนปืนลูกซองดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 278, 362, 364, 365, 371 ริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278, 362 ประกอบด้วยมาตรา 365(3), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจาร จำคุก 2 ปี ฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน จำคุก 1 ปี ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 6 เดือน สำหรับความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนและฐานกระทำอนาจาร คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและข้อนำสืบในชั้นพิจารณาของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษสำหรับความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวให้กึ่งหนึ่งฐานกระทำอนาจาร คงจำคุก 1 ปี ฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน คงจำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตแล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิวรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 จำเลยที่ 2 อายุ 14 ปีเศษ ไม่สมควรพิพากษาลงโทษ ได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้วปล่อยตัวไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ประกอบด้วยมาตรา 74(1)ข้อหาและคำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ในความผิดฐานกระทำอนาจารจำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 4 เดือน ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 4 เดือนสำหรับความผิดฐานกระทำอนาจาร ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 8 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานมีและพาอาวุธปืนแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 16 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาบุกรุก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองเข้าไปในบริเวณโรงเรียนคลองตาหมื่น ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี โดยจำเลยทั้งสองได้ร่วมดื่มสุราและรับประทานอาหารกับนายวิเชียร อุ่นชัย ที่บ้านพักครูในบริเวณโรงเรียนดังกล่าวใกล้กับบ้านพักนางสาว ก. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นครูอยู่ในโรงเรียนเดียวกันกับนายวิเชียร จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้แยกตัวไปที่บ้านพักของผู้เสียหาย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เดินมาที่บ้านพักของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ได้ปีนบันไดเหล็กพับขาขึ้นมาเรียกผู้เสียหายที่หน้าต่างบ้านพัก ผู้เสียหายบอกให้จำเลยที่ 1 ลงมาข้างล่าง แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมลงมาผู้เสียหายรู้สึกกลัวจึงลงมาเปิดประตูบ้านแล้วเดินออกมาตรงหน้าประตูบ้านพร้อมกับสอบถามจำเลยที่ 1 ว่า เหตุใดจึงมาปีนบ้านผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 บอกว่านายวิเชียรท้าว่าจำเลยที่ 1 ไม่กล้าปีนบ้านผู้เสียหาย ผู้เสียหายบอกจำเลยที่ 1 ว่า หากตนมีอาวุธปืนจะยิงจำเลยที่ 1 ที่มาปีนบ้านตนจำเลยที่ 1 ก็บอกว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนและเรียกจำเลยที่ 2 นำอาวุธปืนมาให้ ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ไปนำอาวุธปืนมามอบให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ถอดกระสุนปืน 1 นัดออกจากลำกล้องส่งให้ผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยที่ 1 เข้ามากอดผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายขัดขืนจำเลยที่ 1 จึงอุ้มพาไปกอดจูบปลุกปล้ำที่สนามวอลเลย์บอลภายในโรงเรียนเห็นว่า ในข้อหามีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว โดยที่คำเบิกความของผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองยันกันอยู่ จึงต้องอาศัยพยานแวดล้อมมาฟังประกอบคำเบิกความของผู้เสียหาย ซึ่งจากคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจพิทยา พลอยแหวน ผู้จับกุมจำเลยที่ 1 และพันตำรวจโทโกมล มหิตพงษ์ พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ได้ความว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2537ผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ว่าถูกจำเลยที่ 1 บุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนและกระทำอนาจาร พันตำรวจโทโกมลจึงให้จ่าสิบตำรวจพิทยาไปเชิญตัวจำเลยที่ 1 มาที่สถานีตำรวจโดยพันตำรวจโทโกมลแจ้งข้อหาจำเลยที่ 1 ว่าบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนและกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนตามบันทึกการจับหรือค้นเอกสารหมาย จ.1 และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย ป.จ.5 (ศาลจังหวัดหลังสวน) จะเห็นได้ว่าในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนผู้เสียหายไม่ได้กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจก็มิได้ตั้งข้อหาดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสอง โดยพนักงานสอบสวนเพิ่งมาแจ้งข้อหานี้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2538 หลังจากเกิดเหตุแล้วหลายเดือน อีกทั้งไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้เสียหายหรือตรวจยึดได้อาวุธปืนของกลางแต่อย่างใดคงมีเพียงกระสุนปืนลูกซองเบอร์ 20 ที่ผู้เสียหายนำมามอบให้พนักงานสอบสวนหลังจากเกิดเหตุแล้วหลายวัน ซึ่งตามบัญชีของกลางเอกสารหมาย ป.จ.3 (ศาลจังหวัดชลบุรี)กลับระบุว่า กระสุนปืนของกลางดังกล่าว จำเลยที่ 2 ได้นำมามอบให้ผู้เสียหายในวันเกิดเหตุซึ่งแตกต่างไปจากที่ผู้เสียหายเบิกความไว้ ทำให้น่าสงสัยว่าจำเลยทั้งสองมีและพาอาวุธปืนมายังที่เกิดเหตุจริงหรือไม่ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ยังมีข้อน่าสงสัยเช่นนี้ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อศาลฎีกายกฟ้องในการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตแก่จำเลยที่ 1 นั้น เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213ประกอบด้วยมาตรา 225

ปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานกระทำอนาจารหรือไม่ ฟังว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานกระทำอนาจารผู้เสียหายโดยใช้กำลังประทุษร้าย

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนหรือไม่นั้น เห็นว่า คำว่า “เคหสถาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(4) บัญญัติความหมายของคำว่าเคหสถานไว้ว่า”…ให้หมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม”เมื่อศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 นำบันไดเหล็กแบบพับขาไปกางตั้งวางริมหน้าต่างชั้นบนบ้านผู้เสียหายและปีนไปเรียกผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายเปิดประตูบ้านออกมา หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 กอดอุ้มผู้เสียหายและกระทำอนาจารกอดจูบปลุกปล้ำผู้เสียหายที่บริเวณสนามหญ้าข้างหน้าบ้านพักผู้เสียหายตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลจังหวัดหลังสวน)แม้สนามหญ้าดังกล่าวกับบ้านพักไม่มีรั้วล้อมรอบ และไม่มีเครื่องหมายแสดงให้ทราบว่าเป็นแนวเขตของบ้านพักก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งเป็นสนามหญ้านั้นอยู่ข้างหน้าบ้านพักซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายในเวลากลางคืนอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข และกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกฟ้องโจทก์ข้อหานี้ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่การที่จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายแล้วกระทำอนาจารผู้เสียหายเป็นการกระทำต่อเนื่องกันยังไม่ขาดตอน เจตนาของจำเลยที่ 1 ก็เพื่อกระทำอนาจารเท่านั้น จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทมิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278มาตรา 365(1)(3) ประกอบด้วยมาตรา 362 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 278 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุก 1 ปี 4 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 8 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share