คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3075/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การยื่นคำร้องขอใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 จะต้องพิจารณาด้วยว่ามีกฎหมายสารบัญญัติสนับสนุนว่าเป็นกรณีจำเป็นที่บุคคลนั้นจะต้องมาร้องขอต่อศาลเพื่อรับรองหรือคุ้มครองตามสิทธิของตนที่มีอยู่หรือไม่ตามคำร้องขอของผู้ร้องที่บรรยายมาได้ความว่า ผู้ร้องเคยเป็นข้าราชการของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ถูกปลดออกจากราชการต่อมามีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา60 พรรษา พ.ศ. 2530 ออกใช้บังคับ ผู้ร้องเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงยื่นคำร้องขอบรรจุกลับเข้ารับราชการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้มีคำสั่งไม่รับผู้ร้องให้กลับเข้ารับราชการ ซึ่งไม่มีอำนาจกระทำได้ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเสีย กรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นเป็นคำร้องขอได้ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธินำคดีมาให้ศาลวินิจฉัยตามคำร้องขอ

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเคยเป็นข้าราชการของสำนักงานสาธารณสุข อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สุขาภิบาล 3 ต่อมาเมื่อปี 2529 ผู้ร้องต้องคำพิพากษาของศาลแขวงลพบุรีให้จำคุก 9 เดือน และถูกปลดออกจากราชการ ปี 2530ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530ออกใช้บังคับ ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการกลับเข้ารับราชการได้ วันที่ 23 สิงหาคม 2531ผู้ร้องได้ยื่นแบบขอบรรจุกลับเข้ารับราชการตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2518 ต่อมาวันที่ 5ตุลาคม 2531 จังหวัดลพบุรีได้มีความเห็นสมควรรับผู้ร้องเข้าเป็นข้าราชการตามเดิม จึงได้แจ้งหนังสือไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อดำเนินการดังกล่าว ซึ่งต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือชี้แจง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2533 ว่า สามารถรับผู้ร้องเข้าเป็นข้าราชการได้แต่ตำแหน่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งเรียกว่าเจ้าหน้าที่สุขาภิบาลเป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนต่อมาผู้ร้องได้ดำเนินการติดต่อกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรีต้นสังกัดของผู้ร้องเพื่อขอดำเนินการกลับเข้ารับราชการอีกวันที่ 14 มีนาคม 2534 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรีได้มีคำสั่งไม่รับผู้ร้องให้กลับเข้ารับราชการ ทำให้ผู้ร้องเสียสิทธิกลับเข้ารับราชการ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรีตามหนังสือดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลในกรณีนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55ให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 บัญญัติว่า “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งหรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้” เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้หมายความว่าบุคคลใดต้องการใช้สิทธิทางศาลก็ยื่นคำร้องขอต่อศาลได้ตามอำเภอใจแต่ต้องเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาด้วยว่า มีกฎหมายสารบัญญัติสนับสนุนว่าเป็นกรณีจำเป็นที่บุคคลนั้นจะต้องมาร้องขอต่อศาลเพื่อรับรองหรือคุ้มครองตามสิทธิของตนที่มีอยู่หรือไม่ จึงจะใช้สิทธิทางศาลยื่นเป็นคำร้องขอได้คดีนี้ตามคำร้องขอของผู้ร้องที่บรรยายมาได้ความว่า ผู้ร้องเคยเป็นข้าราชการของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สุขาภิบาล 3ถูกปลดออกจากราชการ ต่อมามีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษา60 พรรษา พ.ศ. 2530 ออกใช้บังคับ ผู้ร้องเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงยื่นคำร้องขอบรรจุกลับเข้ารับราชการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรีได้มีคำสั่งไม่รับผู้ร้องให้กลับเข้ารับราชการ ซึ่งไม่มีอำนาจกระทำได้ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรีเสีย กรณีดังกล่าวนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นเป็นคำร้องขอได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธินำคดีมาให้ศาลวินิจฉัยตามคำร้องขอศาลล่างทั้งสองยกคำร้องขอของผู้ร้องชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share