คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 535/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อได้สืบพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนในบางประเด็นบ้างแล้ว จำเลยได้ร้องขออนุญาตต่อศาลของดการส่งสำเนาเอกสารตามที่ระบุอ้างไว้ในบัญชีระบุพยาน โดยขอยื่นต้นฉบับแทนเพื่อให้ฝ่ายโจทก์ตรวจดู เมื่อศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ก็ย่อมรับฟังพยานที่อ้างฝ่าฝืนกฎหมายนี้ได้ตาม วิ.พ.มาตรา 87
พฤติการณ์ที่ชายซึ่งอยู่กินกับหญิงอย่างออกหน้าออกตา นำหญิงไปคลอดที่โรงพยาบาล หมั่นไปเยี่ยมเยียนและรับกลับบ้าน จนกระทั่งขอให้แพทย์ประจำตำบลตั้งชื่อเด็กที่คลอดมานี้ ย่อมทำให้ฟังได้ว่า ชายได้รับรองแล้วว่าเด็กนั้นเป็นผู้สืบสันดานของตนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1627.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ซึ่งเป็นพี่และน้อง ได้ครอบครองทรัพย์มรดกของบิดาร่วมมากับนายจันทร์แก้ว ต่อมานายจันทร์แก้วตายลงมีทรัพย์มรดกตามบัญชีท้ายฟ้อง จำเลยซึ่งเป็นนางบำเรอของนายจันทร์แก้วได้ครอบครองทรัพย์ที่โจทก์ได้ครอบครองร่วมมากับนายจันทร์แก้ว และทรัพย์อันเป็นมรดกของนายจันทร์แก้ว โจทก์ให้จำเลยส่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้ จำเลยก็ไม่ยอม จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ได้รับแบ่งมรดกอันเป็นของบิดาโจทก์ไปแล้ว ส่วนทรัพย์ที่มีอยู่นี้เป็นทรัพย์ของนายจันทร์แก้ว และตกได้แก่บุตรของนายจันทร์แก้วซึ่งนายจันทร์แก้วได้รับรองแล้ว
เด็กหญิงอำไพ ปัญโญใหญ่ ได้ร้องขอเข้ามาเป็นจำเลยร่วม อ้างว่าตนเป็นบุตรนายจันทร์แก้วซึ่งนายจันทร์แก้วได้รับรองแล้ว และขอถือคำให้การของจำเลยที่ ๑ เป็นคำให้การของตนด้วย ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ทรัพย์มรดกของบิดาโจทก์และนายจันทร์แก้วได้แบ่งปันกันแล้ว ส่วนทรัพย์ที่มีอยู่เป็นของนายจันทร์แก้ว ตกได้แก่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุตรและนายจันทร์แก้วได้รับรองแล้ว ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าการอ้างพยานของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อน ๓ วันเป็นอย่างน้อย จึงไม่ควรที่ศาลจะรับฟัง ปรากฏว่าคดีนี้เมื่อได้สืบพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนในบางประเด็นบ้างแล้ว จำเลยร่วมได้ร้องขออนุญาตต่อศาลของดการส่งสำเนาเอกสารตามที่ระบุอ้างไว้ในบัญชีพยาน โดยขอยื่นต้นฉบับแทนเพื่อให้โจทก์ตรวจดู ฝ่ายโจทก์แถลงคัดค้านว่าจำเลยร่วมไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ควรรับฟัง ศาลชั้นต้นเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังเอกสารนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๘๗ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าชอบแล้ว เพราะเมื่อศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ก็ย่อมรับฟังพยานที่อ้างฝ่าฝืนกฎหมายนั้นได้ ตามมาตรา ๘๗ นั้น
ปัญหาว่าจำเลยที่ ๒ เป็นบุตรนายจันทร์แก้ว มีสิทธิได้รับมรดกหรือไม่นั้น ปรากฏว่านายจันทร์แก้วกับนางจันทร์หอมได้เสียอยู่กินกันฉันผัวเมียอย่างเปิดเผยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ๒๕๐๓ ครั้นถึงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๐๔ นายจันทร์แก้วได้พานางจันทร์หอมไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาล และรับตัวกลับบ้านทั้งแม่และลูก และขอให้แพทย์ประจำตำบลตั้งชื่อบุตรที่คลอดให้ดังนี้ ถือว่าบุตรที่คลอดมานั้นเป็นบุตรที่บิดารับรองแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๒๗ ทรัพย์สมบัติของนายจันทร์แก้วผู้ตายจึงตกได้แก่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานทายาทโดยธรรมอันดับแรกตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๒๙ พยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักและฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์.

Share