คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2821/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในการวินิจฉัยฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 237 และมาตรา 241 หรือไม่นั้น ศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จำเลยไม่ได้รับโอกาสแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งจำเลยไว้วางใจทราบในโอกาสแรกหรือไม่ และขณะที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยไม่ได้รับสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งจำเลยไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนด้วยหรือไม่ ฎีกาของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้าง เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 3 ปี 4 เดือน และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 15, 66, 67 และคืนธนบัตรจำนวน 200 บาท ที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปีจำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือนและคืนธนบัตรจำนวน 200 บาท ที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 237 และมาตรา 241 นั้นเห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จำเลยไม่ได้รับโอกาสแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งจำเลยไว้วางใจทราบในโอกาสแรกหรือไม่ และขณะที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยไม่ได้รับสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งจำเลยไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนด้วยหรือไม่ ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน ที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้างจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 3 ปี 4 เดือน และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับเอกสารหมาย จ.2 เป็นพิรุธ การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนมิได้เป็นการรับสารภาพว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายตลอดจนขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยล้วนเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยมา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share