คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลแขวงพระนครเหนือ โดยเพียงแต่กล่าวว่าจำเลยได้เบิกความในคดีหมายเลขใด ระหว่างผู้ใดโจทก์ ผู้ใดจำเลย และข้อความที่เบิกความกับว่าความจริงเป็นอย่างไร ซึ่งแม้จะเข้าใจได้ว่าคดีที่เบิกความเป็นการพิจารณาคดีอาญา และโจทก์ได้กล่าวมาในฟ้องว่าข้อความที่เบิกความเป็นข้อสำคัญในคดี แต่เมื่อโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องว่าคดีอาญานั้นมีข้อหาความผิดตามบทกฎหมายใด ประเด็นอันเป็นข้อสำคัญในคดีมีว่าอย่างใด และคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญอย่างไร จึงถือว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดมาโดยครบถ้วนไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) และยังเป็นฟ้องที่บรรยายไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามบทมาตราในกฎหมายที่ขอให้ลงโทษจำเลยด้วย ศาลจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ กรณีมิใช่เรื่องฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องตามมาตรา 161 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2541 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลแขวงพระนครเหนือในคดีหมายเลขดำที่ 461/2540 (คดีแดงที่ 442/2542) ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด กองคดีแขวงพระนครเหนือโจทก์ นายสมบูรณ์ ผู้ภักดีประเสริฐ กับทนายความ 2 คน จำเลยว่า “เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม2540 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา โจทก์ได้พูดใส่ความจำเลยที่ 1 ต่อหน้าจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินโจทก์ไป…” ซึ่งเป็นการเบิกความเท็จในข้อสำคัญแห่งคดี โดยความจริงแล้ววันเวลาดังกล่าวโจทก์ไปพบจำเลยที่ 1 ก็เพื่อทวงเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์เป็นเงินจำนวน 170,000 บาท เมื่อไม่พบจำเลยที่ 1 ก็ได้พูดกับจำเลยที่ 2 ให้ช่วยบอกจำเลยที่ 1 ว่าให้จำเลยที่ 1 เตรียมเงินจำนวนดังกล่าวไว้ด้วยเดี๋ยวจะมาเอา การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 178 วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 177 วรรคสอง)

ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดไต่สวนมูลฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ฟ้องโจทก์ในข้อหาเบิกความเท็จเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)และศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ในคดีหมายเลขดำที่ 461/2540 (คดีแดงที่ 442/2542) ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด กองคดีแขวงพระนครเหนือ โจทก์ นายสมบูรณ์ ผู้ภักดีประเสริฐกับทนายความ 2 คน จำเลย ว่า “เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2540 เวลาประมาณ 18 นาฬิกาโจทก์ได้พูดใส่ความจำเลยที่ 1 ต่อหน้าจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 โกงเงินโจทก์ไป…”ซึ่งเป็นการเบิกความเท็จในข้อสำคัญแห่งคดี ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ดังกล่าว เพียงแต่กล่าวว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบิกความในคดีหมายเลขใด ระหว่างผู้ใดโจทก์ผู้ใดจำเลยและข้อความที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบิกความกับว่าความจริงเป็นอย่างไร ซึ่งแม้จะเข้าใจได้ว่าคดีที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบิกความได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา และโจทก์ได้กล่าวมาในฟ้องว่าข้อความที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบิกความเป็นข้อสำคัญในคดีก็ตามแต่เมื่อโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องว่า คดีอาญาที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบิกความนั้นมีข้อหาความผิดตามบทกฎหมายใด ประเด็นอันเป็นข้อสำคัญในคดีมีว่าอย่างใด และคำเบิกความของจำเลยทั้งสองเป็นข้อสำคัญอย่างไร จึงถือว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดมาโดยครบถ้วนไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) และยังเป็นฟ้องที่บรรยายไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามบทมาตราในกฎหมายที่ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองด้วย จึงชอบที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ กรณีมิใช่เรื่องฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share