คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5849/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายกับความผิดฐานก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่ให้ความช่วยเหลือ มีลักษณะการกระทำที่แตกต่างกันและความผิดฐานหลังเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากที่กระทำความผิดฐานแรกสำเร็จไปแล้วจึงเป็นความผิดสองกรรม
จำเลยกระทำความผิดฐานใช้ทางเดินรถที่จัดแบ่งเป็นช่องไม่ถูกต้อง และฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่นอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 34,43(8),151,160 วรรคสาม เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 34 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทมาตรา 33 อันเป็นบททั่วไปซึ่งเป็นความผิดกรณีใช้ทางเดินรถทั่วไปที่มิได้จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองช่องขึ้นไปอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

(ก) จำเลยซึ่งได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ขับขี่รถทุกประเภทจากนายทะเบียนขนส่ง ได้ขับรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 11คันหมายเลขทะเบียน 11 – 4329 กรุงเทพมหานคร บรรทุกคนโดยสารแล่นไปตามถนนเพชรบุรีตัดใหม่จากแยกอโศกมุ่งหน้าไปแยกมิตรสัมพันธ์ ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ กล่าวคือขณะที่จำเลยขับรถมาถึงบริเวณซอยเพชรบุรี 36 ซึ่งขณะนั้นฝนตกและถนนเปียกลื่น อีกทั้งเจ้าพนักงานได้จัดการจราจรแบ่งทางเดินรถให้รถแล่นจากแยกอโศกมุ่งหน้าไปแยกมิตรสัมพันธ์ 2 ช่อง จากแยกมิตรสัมพันธ์มุ่งหน้าไปแยกอโศก 5 ช่อง โดยเจ้าพนักงานจราจรได้ทำเครื่องหมายจราจรดังกล่าวบนพื้นผิวจราจร และจำเลยทราบเครื่องหมายจราจรดังกล่าวแล้ว จำเลยมีหน้าที่ใช้ความระมัดระวังในการขับรถโดยต้องปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรและช่องเดินรถที่เจ้าพนักงานกำหนดไว้ ต้องขับรถไปในช่องเดินรถซ้ายสุด และหากจำเลยประสงค์จะเปลี่ยนช่องเดินรถไปช่องด้านขวาเพื่อเลี้ยวขวาที่แยกมิตรสัมพันธ์ จำเลยต้องใช้ความระมัดระวังขับรถให้อยู่ในช่องเดินรถของตน ไม่ล้ำเข้าไปในช่องเดินรถสำหรับรถที่แล่นสวนทางมาซึ่งจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาใช้ให้เพียงพอไม่โดยจำเลยได้ขับรถล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่สามจากทางซ้ายมือของจำเลยซึ่งเป็นช่องเดินรถสำหรับรถที่แล่นสวนทางจากแยกมิตรสัมพันธ์มุ่งหน้าแยกอโศกอันเป็นการขับรถฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร และการจัดแบ่งช่องเดินรถที่เจ้าพนักงานจราจรได้จัดทำขึ้นดังกล่าวโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนกจง กรุงเทพมหานคร 759 ซึ่งมีนายวงศ์ทอง หนูทอง ผู้ตายขับสวนทางมาทำให้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวได้รับความเสียหายและผู้ตายได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา

(ข) เมื่อจำเลยขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว จำเลยได้หลบหนีโดยไม่ให้ความช่วยเหลือนายวงศ์ทอง หนูทอง ผู้ตาย ตามสมควรพร้อมทั้งไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที

ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 33, 34, 43, 78, 157, 160

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 78, 157, 160 วรรคแรก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษ (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91) ฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 4 ปีฐานก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่ให้ความช่วยเหลือ จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก2 ปี 1 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291) จำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมกับโทษฐานก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นแล้วไม่หยุดให้ความช่วยเหลือเป็นจำคุก 1 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยได้ขับรถยนต์โดยสารประจำทางด้วยความประมาทและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นโดยไม่ขับรถไปในช่องเดินรถซ้ายสุดและขับล้ำเข้าไปในช่องเดินรถสำหรับรถที่แล่นสวนทางทำให้เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่นายวงศ์ทอง หนูทอง ผู้ตายขับสวนทางมาในช่องเดินรถของตนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและรถจักรยานยนต์ของผู้ตายได้รับความเสียหาย หลังจากจำเลยขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินดังกล่าวแล้วจำเลยได้หลบหนีไปโดยไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ตายตามสมควรพร้อมทั้งไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานตำรวจทันที

มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามฟ้องข้อ (ก) และความผิดฐานก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่ให้ความช่วยเหลือตามฟ้องข้อ (ข)เป็นความผิดกรรมเดียวกันหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้จำเลยอ้างมาในฎีกาว่าความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน และสืบเนื่องมาจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย จึงเป็นกรรมเดียวกันนั้น เห็นว่า ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวมีลักษณะแห่งการกระทำที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดกล่าวคือ ความผิดฐานแรกเกิดจากจำเลยกระทำโดยประมาทอันเป็นการกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนาแต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ส่วนความผิดฐานหลังเป็นการกระทำโดยเจตนาและเป็นการกระทำอีกอันหนึ่งที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิดฐานแรกสำเร็จไปแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองฐานดังกล่าว จึงเป็นความผิดสองกรรมที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดสองกรรมมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย…..

อนึ่ง คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานใช้ทางเดินรถที่จัดแบ่งเป็นช่องไม่ถูกต้อง และฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่นอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 34, 43(8), 151, 160 วรรคสาม แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้พิจารณาปรับบทลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวมาด้วย จึงไม่ถูกต้อง เห็นสมควรแก้ไขปรับบทให้ถูกต้องโดยไม่เพิ่งเติมโทษจำเลย และเห็นสมควรกล่าวด้วยว่าเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 34 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทมาตรา 33อันเป็นบททั่วไปซึ่งเป็นความผิดกรณีใช้ทางเดินรถทั่วไปที่มิได้จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองช่องขึ้นไปอีกที่ศาลล่างทั้งสองมิได้พิจารณาปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 33มาด้วย จึงชอบแล้ว นอกจากนี้ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 หลังจากลดโทษแล้วคงจำคุก 1 ปี 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นแล้วไม่ให้ความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 78, 160 วรรคหนึ่ง เป็นจำคุก 1 ปี 8 เดือน ทั้ง ๆ ที่ความผิดกระทงหลังนี้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ลงโทษจำเลยหลังจากลดโทษแล้วให้จำคุก 1 เดือนเท่านั้น จึงเป็นการรวมโทษที่ผิดพลาดไปและเป็นผลร้ายแก่จำเลย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับฟ้อง ข้อ (ก) จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 34, 43(4)(8),151, 157, 160 วรรคสาม และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนกำหนดโทษและการลดโทษให้คงเดิม เมื่อรวมโทษจำเลยสองกระทงแล้วเป็นจำคุก1 ปี 7 เดือน และให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โดยกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติ ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมความประพฤติประจำศาลชั้นต้นทุก 2 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี เพื่อพนักงานคุมประพฤติจะได้สอบถาม แนะนำ หรือตักเตือนจำเลยตามที่เห็นควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share