แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิเรียกสูงขึ้นได้ในกรณีจำเลยผิดนัดหรือผิดเงื่อนไขตามสัญญา มีลักษณะเป็นค่าเสียหายซึ่งจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ให้สัญญาแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเบี้ยปรับเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ดังนั้น หากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แต่การลดนั้นจะต้องลดจากส่วนที่สูงเกินไปกว่าตามปกติที่สัญญากำหนดไว้ ซึ่งไม่เกินอัตราที่กฎหมายอนุญาตให้โจทก์คิดได้ มิใช่ลดลงมาต่ำกว่าอัตราดังกล่าว สัญญากู้ข้อ 2 ระบุให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เป็นข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญา และโจทก์ผู้ให้กู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยสูงถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญา แต่หลังจากวันที่ประกาศของโจทก์ลงวันที่ 5 มีนาคม 2541 ข้อ 2 ที่ระบุอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้มีระยะเวลา ระบุอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดได้ไม่เกินอัตราดังกล่าว ไม่ว่าจำเลยผู้กู้จะผิดนัดหรือไม่ก็ตาม อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม การที่ศาลชั้นต้นลดจำนวนเบี้ยปรับโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้องร้อยละ 15 ต่อปี ต่ำกว่าอัตราที่ระบุในประกาศข้อ 2 ดังกล่าว จึงไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เงินจำนวน 1,069,776.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ของต้นเงิน 712,800 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินจำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างหรือทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,069,776.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 712,800 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้ยึดที่ดินจำนองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 4470 , 4471 ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 35499 , 35500 , 35501 ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ และให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิเรียกสูงขึ้นได้ในกรณีจำเลยผิดนัดหรือผิดเงื่อนไขตามสัญญา มีลักษณะเป็นค่าเสียหายซึ่งจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ให้สัญญาแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ดังนั้น หากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แต่การลดนั้นจะต้องลดจากส่วนที่สูงเกินไปกว่าตามปกติที่สัญญากำหนดไว้ ซึ่งไม่เกินอัตราที่กฎหมายอนุญาตให้โจทก์คิดได้ มิใช่ลดลงต่ำกว่าอัตราดังกล่าว ในกรณีของโจทก์สัญญากู้ตามข้อ 2 ระบุให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เป็นข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญาและโจทก์ผู้ให้กู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยสูงถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญาได้ แต่หลังจากวันที่ประกาศของโจทก์ ลงวันที่ 5 มีนาคม 2541 ข้อ 2 ที่ระบุอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้มีระยะเวลาระบุอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดได้ไม่เกินอัตราดังกล่าว ไม่ว่าจำเลยผู้กู้จะผิดนัดหรือไม่ก็ตาม อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม การที่ศาลชั้นต้นลดจำนวนเบี้ยปรับโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้องร้อยละ 15 ต่อปี ต่ำกว่าอัตราที่ระบุในประกาศข้อ 2 ดังกล่าว จึงไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 มีนาคา 2541) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.