แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยลงชื่อในสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงว่า ถ้ามีข้อพิพาทอันเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายฉบับดังกล่าว ให้นำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการของสมาคมสินค้าแห่งเมืองฮัมบูร์ก เมื่อข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย การที่คู่กรณีได้นำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยโดยถูกต้องตามขั้นตอนเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสมาคมสินค้าแห่งเมืองฮัมบูร์ก และข้อความแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501 คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงฟ้องร้องบังคับกันได้ในศาลไทย และเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งได้วินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2528 อันเป็นเวลาก่อนที่ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ บทกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นไปตามความในมาตรา 222 แห่ง ป.วิ.พ. การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าบริษัท ว. เป็นตัวแทนของโจทก์หรือไม่ก็ดี โจทก์ให้สัตยาบันสัญญาซื้อขายหรือไม่ก็ดี จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ก็ดี หรืออนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดครบประเด็นหรือไม่ก็ดี ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามอุทธรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๑,๖๖๓,๘๙๒.๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๘ ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๒๗๒,๖๗๓.๘๗ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑,๖๖๓,๘๙๒.๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๘ ต่อปี ของต้นเงิน ๔๕,๑๒๘.๐๒ ดอลลาร์สหรัฐ (๑,๑๕๙,๗๙๐.๑๑ บาท) และของต้นเงิน ๘,๒๔๕.๗๑ มาร์กเยอรมัน (๑๑๒,๘๘๓.๗๖ บาท) นับจากวันฟ้อง (วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๓๒) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๐,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังว่า โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้ตกลงซื้อสินค้าปลาทูน่าบรรจุกระป๋องจากจำเลย โดยผ่านนายหน้าในประเทศไทย คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดทรานส์โอเชี่ยนซัพพลายเออร์ส (ไทย) และนายหน้าต่างประเทศ คือบริษัทเวอร์เนอร์ เฟาสท์ จำกัด การซื้อขายมีปัญหาโต้แย้งกันโดยโจทก์อ้างว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะจำเลยได้ระบุชื่อแหล่งผลิตสินค้า คือ ประเทศไทย (THAILAND) ที่กล่องบรรจุสินค้า ซึ่งเป็นข้อห้ามในสัญญา และน้ำหนักปลาไม่ตรงตามสัญญา โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยโจทก์นำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการแห่งเมืองฮัมบูร์ก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พิจารณาชี้ขาด อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ตามจำนวนเงินในฟ้อง แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องคดีต่อศาล คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์และจำเลยได้ตกลงมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ เมืองฮัมบูร์ก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ชี้ขาดข้อพิพาทหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยได้ลงชื่อในสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยมีข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวว่า ถ้ามีข้อพิพาทอันเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายฉบับดังกล่าว ให้นำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการของสมาคมสินค้าแห่งเมืองฮัมบูร์ก เมื่อข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด จึงใช้บังคับกันได้ การที่คู่กรณีได้นำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยโดยถูกต้องตามขั้นตอนเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสมาคมสินค้าแห่งเมืองฮัมบูร์ก และข้อความแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๐๑ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงฟ้องร้องบังคับกันได้ในศาลไทย ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว หากคู่ความจะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงต้องพิจารณาจากบทกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์คำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งได้วินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ อันเป็นเวลาก่อนที่ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๓๐ ใช้บังคับ บทกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นไปตามความในมาตรา ๒๒๒ แห่ง ป.วิ.พ. ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งศาลซึ่งปฏิเสธไม่ยอมพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ หรือคำพิพากษาของศาลตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้
(๑) เมื่อมีข้ออ้างแสดงว่าอนุญาโตตุลาการหรือประธานมิได้กระทำการโดยสุจริต หรือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กลฉ้อฉล
(๒) เมื่อคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(๓) เมื่อคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ”
การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าบริษัทเวอร์เนอร์ เฟาส์ท จำกัด เป็นตัวแทนของโจทก์หรือไม่ก็ดี โจทก์ให้สัตยาบันสัญญาซื้อขายหรือไม่ก็ดี จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ก็ดี หรืออนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดครบประเด็นหรือไม่ก็ดี ต่างเป็นข้ออุทธรณ์ที่ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามอุทธรณ์ การที่จำเลยนำปัญหาข้อห้ามอุทธรณ์มาฎีกา จึงเป็นการฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.