แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์และทายาทอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกได้ตกลงแบ่งปันมรดก แม้มรดกส่วนที่โจทก์จะได้รับโจทก์ยังไม่เข้าครอบครองในฐานะเจ้าของแต่โจทก์ได้ให้ผู้อื่นครอบครองแทน ซึ่งเปรียบเสมือนโจทก์ได้รับส่วนแบ่งและได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยตนเองแล้วการแบ่งปันมรดกจึงเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมรดกที่ บ. มารดาจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้รับการแบ่งปันมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่มีส่วนของโจทก์ บ. ได้ครอบครองทำประโยชน์โดยโจทก์ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยว ต่อมา บ. ถึงแก่ความตายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองทำประโยชน์ต่อ โจทก์ไม่ฟ้องขอแบ่งมรดกภายใน 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ ดังนี้ตามคำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือที่ดินพิพาทอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์อันเป็นการแย่งการครอบครองของโจทก์ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยประเด็นนี้แล้วอ้างเป็นเหตุยกฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์และ บ. มารดาจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท โดย บ. ครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ไว้แทน การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาหลังจาก บ. ถึงแก่ความตาย จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ด้วย โจทก์จึงยังคงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอยู่ครึ่งหนึ่ง และมีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายคำสี แสนสาครกับนางลา แสนสาคร นางลาถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่20 พฤษภาคม 2523 จำเลยที่ 1 ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกศาลจังหวัดสกลนคร ตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกและจำเลยที่ 1 ได้แบ่งมรดกให้ทายาทคนอื่นทุกคนแล้วยกเว้นโจทก์ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2531 จำเลยที่ 1 นางบัวเรียน นางกงทวีและนางวราภรณ์ได้ร่วมขอเปลี่ยนเอกสาร สำหรับที่ดินมรดกเดิมเป็น น.ส.3 ก. เลขที่ 6466 ตำบลสว่างแดนดินอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร แล้วได้ทำการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมโดยนางวราภรณ์ได้รับ 3 ไร่ 28 ตารางวา นางกงทวีได้รับ 2 ไร่ 3 ตารางวา จำเลยที่ 1 ได้รับ 2 ไร่ 2 งาน19 ตารางวา นางบัวเรียนได้รับ 6 ไร่ 1 งาน 34 ตารางวาที่ดินส่วนที่ตกเป็นของนางบัวเรียนเป็นส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับอยู่ครึ่งหนึ่งคิดเป็นเนื้อที่ 3 ไร่ 67 ตารางวา หลังจากนางบัวเรียนถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรได้รับโอนเป็นของตน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 6466 ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนครให้โจทก์ครึ่งหนึ่งโดยแบ่งตามแนวทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งด้านทิศใต้ หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมให้เอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า ศาลได้มีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกของนางลา ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2531จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนในฐานะผู้จัดการมรดกโอนใส่ชื่อที่ดินเป็นของตนเองกับนางบัวเรียน แสนสาครหรือมาละอินทร์นางกงทวี เจ็งเจริญ และนางวราภรณ์ แสนสาคร โดยไม่มีชื่อโจทก์ร่วมอยู่ด้วย ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2531 จำเลยที่ 1พร้อมด้วยเจ้าของรวมตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวม โดยนางวราภรณ์ได้รับ 3 ไร่ 28 ตารางวา นางกงทวีได้รับ 2 ไร่ 3 ตารางวาจำเลยที่ 1 ได้รับ 2 ไร่ 2 งาน 19 ตารางวา นางบัวเรียนได้รับ 6 ไร่ 1 งาน 34 ตารางวา ถือว่ามีการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทของเจ้ามรดกแล้วซึ่งโจทก์ทราบดี และโจทก์ก็ไม่ได้ดำเนินการฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใดหลังจากได้มีการแบ่งปันเป็นส่วนสัดแล้ว นางบัวเรียนมารดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินแปลงดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนายประยอม มาละอินทร์ ซึ่งเป็นสามีของนางบัวเรียนโดยโจทก์ไม่ได้ครอบครองหรือเข้ามายุ่งเกี่ยวแต่อย่างใดทั้งไม่ได้ฟ้องขอแบ่งปัน ต่อมากลางเดือนตุลาคม 2534นางบัวเรียนถึงแก่ความตายนายประยอม จำเลยที่ 2 และที่ 3ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินต่อ โจทก์ไม่ยื่นฟ้องขอแบ่งมรดกภายในกำหนด 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อนางลา แสนสาคร ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทได้ตกลงแบ่งที่ดินให้แก่ทายาทอันได้แก่นางบัวเรียน แสนสาคร จำเลยที่ 1 นางกงทวี เจ็งเจริญและนางวราภรณ์ แสนสาคร สำหรับที่ดินมรดกส่วนของโจทก์นั้นโจทก์ให้นางบัวเรียน ครอบครองไว้แทน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประเด็นแรกว่า การแบ่งปันมรดกรายนี้เสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์และทายาทอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกได้ตกลงแบ่งปันมรดกกันแล้ว แม้มรดกส่วนที่โจทก์จะได้รับโจทก์ยังไม่เข้าครอบครองในฐานะเจ้าของ แต่โจทก์ได้ให้นางบัวเรียนครอบครองแทน ซึ่งเปรียบเสมือนโจทก์ได้รับส่วนแบ่งและได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยตนเองแล้ว การแบ่งปันมรดกจึงเสร็จสิ้นแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยเรื่องสิทธิครอบครองเกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทอันเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ เป็นการไม่ชอบนั้นเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมรดกที่นางบัวเรียนมารดาจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้รับการแบ่งปันมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่มีส่วนของโจทก์แต่อย่างใด นางบัวเรียนมารดาจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้ครอบครองทำประโยชน์โดยโจทก์ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวต่อมานางบัวเรียนถึงแก่ความตายจำเลยที่ 2 และที่ 3ครอบครองทำประโยชน์ต่อ โจทก์ไม่ฟ้องขอแบ่งมรดกภายใน 1 ปีคดีโจทก์ขาดอายุความ ดังนี้ ตามคำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือที่ดินพิพาทอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์อันเป็นการแย่งการครอบครองของโจทก์แต่อย่างใด การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยประเด็นนี้แล้วอ้างเป็นเหตุยกฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์และนางบัวเรียนมารดาจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทโดยนางบัวเรียนครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ไว้แทนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาหลังจากนางบัวเรียนถึงแก่ความตาย จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ด้วยโจทก์จึงยังคงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอยู่ครึ่งหนึ่ง และมีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 แบ่งแยกที่ดินน.ส.3 ก. เลขที่ 6466 ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดินจังหวัดสกลนคร ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง โดยแบ่งตามแนวทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกจากทางทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกและให้โจทก์ได้ที่ดินทางด้านทิศใต้ของที่ดินดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1