แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจเข้าว่าคดี ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 25 จำเลยไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ได้อีก ซึ่งจำเลยแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่มีอำนาจดังกล่าวแล้ว แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนจำเลย การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลอุทธรณ์ภาค 7 นับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด รวมถึงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และการยื่นฎีกาของจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 25 แม้ปัญหาเรื่องกระบวนพิจารณาในศาลอุทธรณ์ภาค 7 และการยื่นฎีกาของจำเลยชอบหรือไม่จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 13762 ถึง 13764 ตำบลนาโคก อำเภอเมืองสมุทรสาคร (บ้านบ่อ) จังหวัดสมุทรสาคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 17317 ตำบลนาโคก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 113,333.33 บาท และอีกเดือนละ 200,000 บาท แก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ภาค 7 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกให้จำเลยนำค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ที่ยังขาดอยู่มาชำระให้ครบถ้วนภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยนำเงินค่าขึ้นศาลที่ยังขาดอยู่มาชำระภายใน 15 วัน จำเลยยื่นคำร้องอ้างว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด จำเลยต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการวางเงินค่าขึ้นศาลเสียก่อน ขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไป 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จำเลยไม่นำเงินมาวาง ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ภาค 7
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความว่าจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่
ศาลชั้นต้นสอบถามแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2553
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2551 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มเติม จำเลยทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2553 จำเลยขอขยายระยะเวลาวางเงิน โดยอ้างเหตุว่าจำเลยถูกศาลล้มละลายกลางพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลชั้นต้นอนุญาต เมื่อครบกำหนดจำเลยไม่ได้ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มเติม ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ เห็นว่า หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจเข้าว่าคดี ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 25 จำเลยไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ได้อีก ซึ่งจำเลยได้แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่มีอำนาจดังกล่าวแล้ว แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนจำเลย การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลอุทธรณ์ภาค 7 นับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด รวมถึงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และการยื่นฎีกาของจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 25 แม้ปัญหาเรื่องกระบวนพิจารณาในศาลอุทธรณ์ภาค 7 และการยื่นฎีกาของจำเลยชอบหรือไม่จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษายกการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2553 เป็นต้นไป ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และยกฎีกาจำเลย ให้ศาลชั้นต้นสอบถามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าประสงค์จะเข้าว่าคดีแทนจำเลยหรือไม่ เสร็จแล้วให้ส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดี คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ