แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ชั้นสอบสวนจำเลยจะให้การรับสารภาพและนำชี้ที่เกิดเหตุก็ตาม แต่จำเลยเบิกความว่าเหตุที่ให้การเช่นนั้นเพราะถูกทำร้ายร่างกาย ทั้งเมื่อถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมจำเลยก็ให้การปฏิเสธและไม่ยอมลงชื่อในคำให้การ ดังนั้น ลำพังเพียงคำรับสารภาพดังกล่าวไม่ทำให้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ยังเป็นที่สงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่กระทำความผิดหรือไม่ ศาลย่อมยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58, 91, 339, 371 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 1,300 บาท แก่ผู้เสียหายบวกโทษที่รอการลงโทษจำคุกไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1808/2538 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1260/2539 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้กับนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3045/2539 (ต่อมาเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 509/2540) ของศาลชั้นต้น และริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษที่รอการลงโทษและขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสาม, 371 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาอาวุธ ปรับ 90 บาท ฐานชิงทรัพย์ จำคุก 10 ปี รวมจำคุก 10 ปีปรับ 90 บาท คำให้การในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก6 ปี 8 เดือน ปรับ 60 บาท บวกโทษจำคุก 2 เดือน ที่รอไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1808/2538 ของศาลชั้นต้น รวมจำคุก 6 ปี 10 เดือน ปรับ 60 บาท นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 509/2540 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 1,300 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ นายขจิตพงศ์ ชุ่มเผือก ผู้เสียหายถูกคนร้ายชิงสร้อยคอทองคำ หนัก 1 บาทพร้อมพระเลี่ยมทอง 1 องค์ และผู้เสียหายถูกคนร้ายใช้มีดปลายแหลมแทงได้รับบาดเจ็บ ตามรายงานการตรวจบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายและนายนราวุธ ต่ายทอง เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อผู้เสียหายและนายนราวุธเดินถึงตู้ยามปากทางเข้าตลาดมีนบุรี ก่อนถึงป้ายจอดรถโดยสารประจำทาง 2 ถึง 3 เมตร และขณะเดินอยู่ระหว่างรถยนต์โดยสารที่จอดอยู่มีคนร้ายถือมีดปลายแหลมเข้าล็อกคอผู้เสียหาย และใช้มีดดังกล่าวจ่อหน้าอกผู้เสียหายเพื่อกระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายขัดขืนคนร้ายจึงใช้มีดแทงหน้าอกด้านซ้ายของผู้เสียหาย นายนราวุธซึ่งเดินตามหลังผู้เสียหายห่างประมาณ 2 เมตร จะเข้าช่วยเหลือแต่คนร้ายใช้มีดขู่ไม่ให้เข้าช่วยพร้อมกับกระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายจนขาด แต่คนร้ายคงได้สร้อยคอทองคำไปเพียงบางส่วนแล้วหลบหนีไป เห็นว่า บริเวณใกล้ ๆ ที่เกิดเหตุมีรถยนต์โดยสารหลายคันจอดอยู่ และจุดเกิดเหตุก็อยู่ระหว่างรถยนต์โดยสารดังกล่าว ทั้งขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าบริเวณใกล้เคียงคงจะสาดส่องไปถึงจุดที่เกิดเหตุไม่มากนักประกอบกับเหตุชิงทรัพย์เกิดขึ้นทันทีทันใดเพียงชั่วขณะเท่านั้น ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายเห็นคนร้ายไม่ชัดเจน และผู้เสียหายก็เบิกความรับว่าระหว่างรถยนต์โดยสารสองคันที่จอดอยู่มืด ผู้เสียหายต่อสู้กับคนร้ายจึงจำคนร้ายไม่ได้ ขณะเกิดเหตุนายนราวุธอยู่ห่างจากผู้เสียหายประมาณ 2 เมตร และเห็นคนร้ายเพียงชั่วขณะในบริเวณที่มีแสงสว่างไม่มากนักเช่นนั้น ย่อมจะเห็นหน้าคนร้ายซึ่งสวมหมวกแก๊ปไม่ชัดเจนเดียวกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวเมื่อไปชี้ตัวคนร้ายครั้งแรกนายนราวุธจึงชี้ตัวไม่ถูก เพิ่งชี้ตัวจำเลยว่าเป็นคนร้ายหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจให้ผู้ที่ยืนในแถวเพื่อให้นายนราวุธชี้ตัวได้สวมหมวกแก๊ปแล้วทุกคน แม้การสวมหมวกแก๊ปเพื่อให้มีสภาพเหมือนกับตอนเกิดเหตุจะทำให้นายนราวุธสามารถแยกแยะและจำลักษณะคนร้ายได้มากขึ้น แต่ก็เป็นเพียงสภาพการแต่งกายเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เป็นมูลเหตุจูงใจให้นายนราวุธตัดสินใจชี้ตัวจำเลยหาใช่ชี้ตัวจำเลยเพราะเหตุจำหน้าจำเลยได้ไม่ ส่วนที่จำเลยให้การรับสารภาพและนำชี้ที่เกิดเหตุนั้น จำเลยเบิกความว่าเหตุที่ให้การเช่นนั้นเพราะถูกทำร้ายร่างกาย ทั้งเมื่อถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมจำเลยก็ให้การปฏิเสธและไม่ยอมลงชื่อในคำให้การ ดังนั้น ลำพังเพียงคำรับสารภาพดังกล่าวไม่ทำให้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์ยังเป็นที่สงสัยตามสมควรว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่กระทำความผิดดังคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน