คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.ฎ. พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 บัญญัติว่า ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตาม พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่ พ.ร.ฎ. นี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ฎ. นี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนักโทษเด็ดขาดในคดีของศาลจังหวัดลพบุรี ซึ่งถูกควบคุมหรือขังอยู่ในเรือนจำกลางบางขวางซึ่งอยู่ในเขตศาลจังหวัดนนทบุรีในวันที่ พ.ร.ฎ. นี้ใช้บังคับ และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ฎ. นี้บัญญัติว่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ ผู้พิพากษาศาลแห่งท้องที่หรือตุลาการศาลทหารแห่งท้องที่หนึ่งคนและอัยการแห่งท้องที่หรืออัยการทหารแห่งท้องที่หนึ่งคน รวมสามคนเป็นคณะกรรมการมีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ และส่งรายชื่อต่อศาลแห่งท้องที่ให้เสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ พ.ร.ฎ. นี้ใช้บังคับ เพื่อความสะดวกแก่ศาลแห่งท้องที่นั้นพิจารณาออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษแล้วแต่กรณี ฉะนั้นจึงชอบที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นศาลแห่งท้องที่นั้นได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลจังหวัดลพบุรีพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตลอดชีวิตในคดีอาญา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน คดีถึงที่สุด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกส่งตัวมาจำคุกอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวาง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดนนทบุรี
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนนทบุรีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิได้รับการพิจารณาลดโทษตาม พ.ร.ฎ. พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 โดยลดโทษ 1 ใน 2 แต่กลับได้ลดโทษ 1 ใน 4 ขอให้ศาลจังหวัดนนทบุรีกำหนดโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งว่า ตามคำร้องเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอให้ศาลกำหนดโทษใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกจำคุกอยู่ในคดีของศาลจังหวัดลพบุรี กรณีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดนนทบุรีที่จะพิจารณาสั่ง ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า ศาลจังหวัดนนทบุรีมีอำนาจรับคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.ฎ. พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 บัญญัติว่า ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตาม พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่ พ.ร.ฎ. นี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ฎ. นี้ ในวันที่ พ.ร.ฎ. นี้ใช้บังคับ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนักโทษเด็ดขาดถูกควบคุมหรือขังอยู่ในเรือนจำกลางบางขวางซึ่งอยู่ในเขตศาลจังหวัดนนทบุรี และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ฎ. นี้บัญญัติว่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ ผู้พิพากษาศาลแห่งท้องที่ หรือตุลาการศาลทหารแห่งท้องที่หนึ่งคนและอัยการแห่งท้องที่หรืออัยการทหารแห่งท้องที่หนึ่งคน รวมสามคน เป็นคณะกรรมการมีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ และส่งรายชื่อต่อศาลแห่งท้องที่ให้เสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ พ.ร.ฎ. นี้ใช้บังคับ เพื่อความสะดวกแก่ศาลแห่งท้องที่นั้นพิจารณาออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษแล้วแต่กรณี ฉะนั้นจึงชอบที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นศาลแห่งท้องที่นั้นได้
พิพากษากลับ ให้ศาลจังหวัดนนทบุรีรับคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้ดำเนินการต่อไป.

Share