แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เด็กชาย ด. มีอายุไม่เกิน 15 ปี หลังจากบิดามารดาของเด็กชาย ด. ถึงแก่ความตาย จ. ผู้เสียหายซึ่งเป็นพี่สาวของบิดาเด็กชาย ด.ได้เป็นผู้ดูแลเด็กชายด. ตลอดมา จ. อนุญาตให้จำเลยพาเด็กชาย ด. ไปทำงานที่กรุงเทพมหานครตามที่จำเลยร้องขอ ไม่ปรากฏว่า การขออนุญาตของจำเลยดังกล่าวมีเลศนัยอันส่อให้เห็น ถึงความไม่สุจริตของจำเลยแต่อย่างใด การที่ จ. อนุญาตให้จำเลยพาเด็กชาย ด. ไป ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจาก ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก ส่วนกรณีที่เด็กชาย ด. ได้หายไปหลังจากไปอยู่กรุงเทพมหานครกับจำเลยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ไม่ทำให้จำเลย ต้องรับผิดตามบทมาตราดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก จำคุก 6 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เด็กชายดำ ยินดีรัมย์ มีอายุไม่เกิน 15 ปี หลังจากบิดามารดาของเด็กชายดำถึงแก่ความตาย นางเจียม ยาวรัมย์ ผู้เสียหายซึ่งเป็นพี่สาวของบิดาเด็กชายดำได้เป็นผู้ดูแลเด็กชายดำตลอดมา คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตามฎีกาของโจทก์หรือไม่ ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายพยานโจทก์ว่า พยานเป็นผู้อนุญาตให้จำเลยพาเด็กชายดำไปทำงานที่กรุงเทพมหานครตามที่จำเลยร้องขอไม่ปรากฏตามข้อนำสืบของพยานหลักฐานของโจทก์ว่า การขออนุญาตของจำเลยดังกล่าวมีเลศนัยอันส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลยแต่อย่างใด การที่ผู้เสียหายอนุญาตให้จำเลยพาเด็กชายดำไปทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กชายอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก ส่วนกรณีที่เด็กชายดำได้หายไปหลังจากไปอยู่กรุงเทพมหานครกับจำเลยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ไม่ทำให้จำเลยต้องรับผิดตามบทมาตราดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน