คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534ไม่ประสงค์ให้นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งเอากับสมาชิกวงแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 6 ก็ตาม แต่ในมาตรา 7ก็บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะฟ้องคดี หรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ได้ย่อมแสดงว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่าการเล่นแชร์ ดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมด การที่โจทก์จำเลยกับพวกซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมเล่นแชร์มีการประมูลแชร์ระหว่างกันมาตลอดและจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกวงแชร์ด้วยกันการที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นลูกวงแชร์มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน และย่อมไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 ดังกล่าว ฉะนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ ของโจทก์จำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 เมื่อธนาคาร ตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยสั่งจ่าย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็คดังกล่าวให้โจทก์ โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ จำเลยให้การรับว่าออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์จริง แต่โจทก์ไม่ชำระหนี้แทน จำเลยจึงไม่ต้องชำระหนี้ตามเช็คให้โจทก์จำเลยเป็นฝ่ายยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นมาใหม่เพื่อต่อสู้กับโจทก์ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้โจทก์เพียงใดหรือไม่และให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน จึงหมายความรวมถึงกำหนดให้จำเลยนำสืบว่า จำเลยมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้ตอบแทนโจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้ชำระหนี้ให้จำเลยด้วยจำเลยอุทธรณ์ว่าเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบตามที่โจทก์อ้าง จึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งกำหนดหน้าที่นำสืบของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาเมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งไว้ จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 100,000 บาทชำระหนี้ค่าแชร์แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย เมื่อถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 625 บาทและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะตราที่ประทับในหนังสือมอบอำนาจ มิใช่ตราสำคัญของบริษัทโจทก์และโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ในการเล่นแชร์ แชร์วงนี้เป็นแชร์200,000 บาท เปีย 100,000 บาท มีผู้เล่นรวมเท้าแชร์20 มือ มีทุนกองกลางต่องวดประมาณ 1,600,000 บาท ตกเป็นโมฆะเพราะมีทุนกองกลางต่อ 1 งวด เกิน 300,000 บาทตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3) จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด จำเลยเปียแชร์ได้เมื่องวดเดือนเมษายน 2538แต่จำเลยไม่ได้รับเช็คค่าแชร์หรือเงินสดจากโจทก์เมื่อโจทก์เปียแชร์ได้ในเดือนกรกฎาคม 2538 จำเลยจึงไม่ต้องชำระเงินแก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2538เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อแรกว่าหนี้ตามวงแชร์พิพาทตกเป็นโมฆะทั้งหมด ไม่ตกเป็นโมฆะเฉพาะส่วนของนายวงแชร์ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เห็นว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท จึงเป็นคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า แชร์วงที่โจทก์จำเลยร่วมกันเล่นมีนายธงชัย เล็กวิกลม เป็นนายวงแชร์และเป็นผู้จัดให้มีการเล่น โจทก์จำเลยกับพวกมีการประมูลแชร์ระหว่างกันตลอดมาและจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าแชร์วงดังกล่าวให้โจทก์เห็นว่า ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534ไม่ประสงค์ให้นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งเอากับสมาชิกวงแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 6 เท่านั้น แต่มาตรา 7 เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะฟ้องคดี หรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ แสดงว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่าการเล่นแชร์ดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมด การที่โจทก์จำเลยกับพวกมีการประมูลแชร์ระหว่างกันมาตลอด และจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกวงแชร์ด้วยกัน แสดงว่าโจทก์จำเลยซึ่งเป็นลูกวงแชร์มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 ดังกล่าว ฉะนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์จำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็คดังกล่าวให้โจทก์
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นกรณีอุทธรณ์ว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง ไม่ใช่อุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย เมื่อจำเลยไม่ได้รับเงินค่าแชร์จากโจทก์ ที่โจทก์อ้างว่าได้จ่ายเช็คให้จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิที่จะไม่นำเงินเข้าบัญชี เพื่อให้โจทก์นำเช็คของจำเลยเข้าเรียกเก็บเงินได้ ปรากฏว่าศาลชั้นต้นตั้งประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้โจทก์เพียงใดหรือไม่และให้จำเลยนำสืบก่อน แล้ววินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยเปียแชร์ได้โจทก์สั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.5 ชำระหนี้ค่าแชร์ที่จำเลยเปียได้ ไม่ปรากฏว่าเช็คดังกล่าวธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินคงมีคำเบิกความลอย ๆ ของจำเลยว่าไม่ได้รับเช็คจากโจทก์เท่านั้น จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยดังกล่าวไม่ถูกต้องเพราะโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์สั่งจ่ายเช็คให้จำเลยแล้วและจำเลยรับเงินตามเช็คไปแล้ว เป็นหน้าที่โจทก์จะต้องนำสืบให้เห็นตามที่โจทก์อ้าง ไม่ใช่จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบ ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งกำหนดหน้าที่นำสืบในชั้นชี้สองสถานเมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ จำเลยให้การรับว่าออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์จริง แต่โจทก์ไม่ชำระหนี้ตอบแทน จำเลยจึงไม่ต้องชำระหนี้ตามเช็คให้โจทก์ เห็นได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นมาใหม่เพื่อต่อสู้กับโจทก์ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อนจึงหมายความรวมถึงกำหนดให้จำเลยนำสืบว่าจำเลยมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้ตอบแทนโจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้ชำระหนี้ให้จำเลยด้วย จำเลยอุทธรณ์ว่าเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบตามที่โจทก์อ้าง จึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งกำหนดหน้าที่นำสืบของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2)จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share