คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 824/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็ฯเจ้าพนักงานประจำหน่วยสืบสวนกองปราบปราม กรมสรรพสามิต จำเลยที่ 2 เป็ฯพลตำรวจ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นราษฎรร่วมกันกระผิดโดยจำเลยที่ 3 แกล้งกล่าวหาว่าผู้เสียหายมีเฮโรอีนแล้วอ้างตนว่าเป็นตำรวจจับตัวผู้เสียหายไปพบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 บอกผู้เสียหายว่าตนเป็นผู้บังคับหมวดตำรวจ ให้เอาเงินมาให้จำเลย 5,000 บาทแล้วไม่ต้องไปโรงพัก สามีของผู้เสียหายไปหาเงินจำเลยก็คุมตัวผู้เสียหายรออยู่ จนเมื่อหาเงินมาได้และให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยจึงปล่อยตัว ดังนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 145,337,148 ประกอบกับมาตรา 86 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 148 และ 337 แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฏหมายหลายบท ตามมาตรา 90 ให้ใช้บทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ และถึงแม้จะมิได้ใช้มาตรา 337 เป็นบทลงโทษเช่นนี้ ศาลก็ย่อมพิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายตามที่อัยการโจทก์ขอด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๕,๑๔๘,๓๓๗,๘๓ พระราชบัญญัติแก้ไข ฯ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๔ และขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๕,๐๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นและศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายละอองกับนางหยี่เป็นสามีภรรยากัน เวลาเกิดเหตุนายหยี่ผู้เสียหายอยู่ร้าน ส่วนนายละอองไม่อยู่ จำเลยที่ ๓ ผู้มิได้เป็นเจ้าพนักงานเข้าไปในร้าน ตรงไปหยิบถุงกระดาษใต้ร้านผัก กับหยิบห่อเล็ ๆ ออกจากถึงแก้ออกดูเป็นวัตถุเม็ดเล็ก ๆ สีเม็ดมะปราง และว่าเป็นเฮโรอีน ผู้เสียหายว่าไม่ใช่ของตน จำเลยที่ ๓ บอกว่าตนเป็ฯตำรวจและคุมผู้เสียหายออกจากร้านไปที่ร้านกาแฟ มีจำเลยที่ ๑ ซึ่งรับราชการประจำหน่วยสืบสวนกองปราบปราม กรมสรรพสามิต และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นพลตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลท่าเรือตามไปด้วย ไปนั่งร่วมโต๊ะกันในร้านกาแฟ จำเลยที่ ๑ บอกผู้เสียหายว่าตนเป็นผู้บังคับหมวดตำรวจ ให้ผู้เสียหายเอาเงินมาให้ ๕,๐๐๐ บาทแล้วไม่ต้องไปโรงพัก ผู้เสียหายว่าไม่มี พอดีนายละอองตามมาสอบถาม จำเลยที่ ๑ บอกให้เอาเงินมาเสีย ๕,๐๐๐ บาท ให้ไปหาเงินมา นายละอองก็ไป จำเลยทั้ง ๓ คุมผู้เสียหายไปนั่งรอที่ร้านกาแฟคลองเตย นายละอองหาเงินมาได้ เอามาให้ผู้เสียหาย ๆ สังให้จำเลยที่ ๑ นับได้ ๕,๐๐๐ บาท แล้วส่งให้ผู้เสียหายบอกว่าให้เอาไปส่งให้ที่รถ แล้วจำเลยที่ ๑ พาผู้เสียหายกับนายละอองขึ้นรถแท๊กซี่ไป โดยบอกจำเลยที่ ๒,๓ ไว้ว่าให้ไปพบกันยังที่นัด เมื่อไปถึงที่จอดครถ ร.ส.พ.แล้ว จำเลยที่ ๑ ให้ผู้เสียหายส่งถึงเงินให้ และให้ผู้เสียหายกับนายละอองลงจากรถ แล้วจำเลยที่ ๑ ก็นั่งรถต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๕,๑๕๘,๓๓๗,๘๓ แก้ไขเพิ่มเติม ฯ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๔ แต่ให้ลงโทษตามบทหนัก คือ มาตรา ๑๔๘ ประกอบกับที่แก้ไข ฯ จำคุกจำเลยที่ ๑,๒ คนละ ๕ ปี ส่วนจำเลยที่ ๓ เป็นราษฎรร่วมกระทำผิด ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุน ตามมาตรา ๘๖ ให้จำคุก ๓ ปี ๔ เดือน ให้จำเลยที่ ๓ คืน หรือใช้เงิน ๕,๐๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็ฯว่าคดียังน่าสงสัย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทุกคนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๕,๑๔๘ ตามที่แก้ไข ฯ ,๓๓๗ และ ๘๓ นั้น ยังคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะจำเลยที่ ๑ รับราชการเป็นสรรพสามิตอำเภอสัมพันธวงศ์ ได้กระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ กับจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นราษฎรได้ร่วมกันแสดงตนเป็นตำรวจและควบคุมตัวผู้เสียหาย จำเลยที่ ๑ กับที่ ๓ จึงมีความผิดตามมาตรา ๑๔๕ ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจอยู่แล้ว จึงไม่มีความผิดตามมาตรา ๑๔๕ ด้วย จำเลยที่ ๒ คงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา ๑๔๘ ซึ่งจำเลยที่ ๑ และ ๓ ได้ร่วมมือในการกระทำผิดด้วย แต่ไม่อาจเป็นตัวการในการกระทำผิดตามมาตรา ๑๔๘ ได้ จึงต้องมีความผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา ๘๖ นอกจากนี้การกระทำของจำเลยทั้งสามยังเป็นความผิดตามมาตรา ๓๓๗ ด้วย แต่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฏหมายหลายบทตามมาตรา ๙๐ ให้ใช้บทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ
พิพากษากลับ ว่าจำเลยที่ ๑,๓ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๕,๓๓๗,๑๔๘,๘๖ พระราชบัญญัติแก้ไข ฯ มาตรา ๔ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑,๓ ตามมาตรา ๑๔๘ ตามที่แก้ไข ฯ ประกอบกับมาตรา ๘๒ ลงโทษจำเลยที่ ๒ ตามมาตรา ๑๔๘ ตามที่แก้ไข ฯ ส่วนอัตราโทษให้เป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ตลอดทั้งให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๕,๐๐๐ บาทแกผู้เสียหายด้วย.

Share