คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1773/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยไม่มาศาลแรงงานในวันสืบพยาน ไม่มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯจึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น จำเลยจึงขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 197วรรคสองซึ่งมาตรา 202 บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาแล้วพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเนื่องจากมาทำงานสายหรือไม่ การที่โจทก์นำสืบว่านาฬิกาของจำเลยเร็วไปก็ดี จำเลยยอมให้มาสายได้ก็ดี หานอกประเด็นไม่ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์นำสืบต่างไปจากเอกสารที่ลงไว้ว่าโจทก์มาทำงานสาย จึงไม่ชอบที่ศาลจะรับฟัง เป็นปัญหาว่าควรเชื่อฟังพยานหลักฐานโจทก์หรือไม่ เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา54
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างที่มิได้บอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวเพราะโจทก์มาทำงานสายและจำเลยเคยเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้ว ดังนี้ ประเด็นข้อพิพาทมีเพียงว่า โจทก์มาทำงานสายซึ่งจำเลยมีหนังสือเตือนแล้วหรือไม่ ส่วนข้อที่ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างที่ไม่บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าและค่าชดเชย เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาท หาใช่ประเด็นข้อพิพาทไม่แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ โดยนำเอาผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทมากำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทด้วย แต่ไม่ครบถ้วน ก็ไม่ทำให้ประเด็นข้อพิพาทเปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างที่มิได้บอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์

จำเลยมาศาลแรงงานกลางตามกำหนดนัดในการพิจารณาคดีและแถลงต่อสู้คดีว่า โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะมาทำงานสาย จำเลยเคยเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้ว โจทก์กระทำความผิดซ้ำอีก ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเนื่องจากกระทำผิดระเบียบข้อบังคับ มาทำงานสาย ซึ่งจำเลยเคยมีหนังสือเตือนมาแล้วหรือไม่ โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อนแล้วจำเลยนำสืบแก้ และได้นัดสืบพยานโจทก์ไป โจทก์จำเลยทราบนัดแล้ว

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดพิจารณา ให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ครั้นสืบพยานโจทก์เสร็จศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาในวันเดียวกันให้จำเลยจ่ายสินจ้างที่ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามฟ้องให้โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 40 วรรคสองเป็นเรื่องจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลในวันนัดพิจารณาตามมาตรา 37 แล้วไม่มาตามกำหนดนัด คดีนี้จำเลยมาศาลในวันนัดพิจารณาและให้การไว้แล้ว แต่ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์กรณีจำเลยไม่มาศาลแรงงานในวันนัดสืบพยาน ไม่มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัตินั้นเพราะไม่ขัดหรือแย้งกัน การที่จำเลยทราบนัดแล้วมิได้มาศาลในวันสืบพยานโจทก์ซึ่งโจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน อันเป็นวันสืบพยานโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี ย่อมถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 197 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งมาตรา 202 บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา แล้วพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว

ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นพิพาทว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเนื่องจากกระทำผิดระเบียบข้อบังคับ มาทำงานสายซึ่งจำเลยเคยมีหนังสือเตือนแล้วหรือไม่ การที่โจทก์นำสืบว่านาฬิกาของจำเลยเร็วไปก็ดี จำเลยยอมให้มาสายได้ก็ดีเป็นการนำสืบว่าโจทก์มิได้ทำผิดระเบียบข้อบังคับตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้นั่นเองหานอกประเด็นไม่ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์นำสืบต่างไปจากเอกสารที่ลงไว้ว่าโจทก์มาทำงานสายจึงไม่ชอบที่ศาลจะรับฟังนั้นเป็นปัญหาว่าควรเชื่อถือพยานหลักฐานโจทก์หรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างที่มิได้บอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยจำเลยให้การว่า โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะมาทำงานสาย จำเลยเคยเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้ว โจทก์กระทำความผิดซ้ำอีก ดังนี้ เป็นการปฏิเสธว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายทั้งสินจ้างที่ไม่บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าและค่าชดเชยด้วยเหตุเดียวกันตามคำให้การ ประเด็นข้อพิพาทมีเพียงว่าโจทก์กระทำผิด มาทำงานสาย ซึ่งจำเลยมีหนังสือเตือนแล้วหรือไม่ส่วนข้อที่ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างที่ไม่บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าและค่าชดเชย เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาท หาใช่ประเด็นข้อพิพาทไม่ ฉะนั้น แม้ศาลแรงงานกลางจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเนื่องจากกระทำผิดระเบียบข้อบังคับมาทำงานสาย ซึ่งจำเลยเคยมีหนังสือเตือนมาแล้วหรือไม่โดยนำเอาผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทมากำหนดประเด็นข้อพิพาทด้วย แต่ไม่ครบถ้วน ก็ไม่ทำให้ประเด็นข้อพิพาทเปลี่ยนแปลงไป เมื่อได้ความว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับ มิได้มาทำงานสาย ศาลแรงงานกลางย่อมพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างที่ไม่บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าได้

พิพากษายืน

Share