คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 226/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุตรนอกกฎหมายนั้นเมื่อมีพฤติการณ์แสดงออก เช่น บิดาได้เลี้ยงดู ให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนว่าเป็นบุตรของตน และให้ใช้นามสกุล เช่นนี้ แล้วย่อมเป็นการแสดงว่าบิดาได้รับรองแล้วตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ไม่จำเป็นต้องไปจดทะเบียนตาม พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวซึ่งผิดกับกรณีที่จะจดทะเบียนเด็กให้เป็นบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1527 และพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2478 มาตรา 19
(ฎีกาที่ 1503/2497)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่านางหวิงมารดาโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกับด.ช.เกรียงศักดิ์, ด.ช.บุญเกื้อ โดยนางหวิงมีกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่งนางหวิงมีบุตร 4 คนคือโจทก์, นายบุญชู, นายเชิด, น.ส.ชิน, นางหวิง นายบุญชูตายแล้ว

โจทก์ยื่นคำร้องขอรับมรดกที่ดินส่วนของนางหวิง จำเลยคัดค้านว่าเป็นบุตรนายบุญชูจะขอให้ลงชื่อจำเลยด้วย โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลชี้ว่าจำเลยไม่ใช่บุตรนายบุญชู ไม่มีสภาพและสิทธิจะได้รับมรดกของนางหวิงแทนที่นายบุญชู

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลสั่งนัดพิจารณาโจทก์ไปฝ่ายเดียว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยเป็นบุตรนอกกฎหมาย แต่นายบุญชูได้รับรองจำเลยเป็นบุตรตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 แล้ว หาจำเป็นต้องไปจดทะเบียนรับรองจำเลยว่าเป็นบุตรตาม พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวดังโจทก์อุทธรณ์ไม่ พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ที่นายบุญชูแสดงออก เช่น มีการเลี้ยงดูจำเลยและให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนว่าเป็นบุตรของตน ทั้งให้ใช้นามสกุล ย่อมเป็นการแสดงว่านายบุญชูได้รับรองจำเลยต้องตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และฎีกาที่ 1503/2497 แล้ว คดีนี้เป็นกรณีบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ผิดกับกรณีที่จะจดทะเบียนเด็กให้เป็นบุตรตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1527 และ พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 19 ที่โจทก์อ้างมา พิพากษายืน

Share