คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6303/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 9 บัญญัติว่า “ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดขึ้นในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด” คำว่า ปัญหา หมายถึง ข้อสงสัย กรณีมีปัญหาหมายถึงกรณีมีข้อสงสัย ย่อมหมายถึงศาลที่รับพิจารณาคดีนั้นๆ ไว้แล้ว มีความสงสัยว่า คดีนั้นจะไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาในศาลของตน จึงต้องส่งเรื่องให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ โดยไม่มีข้อสงสัย ไม่ใช่ว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดยื่นคำร้องว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลนั้น ศาลนั้นจะต้องเสนอไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยทุกเรื่องเพราะจะทำให้การพิจารณาคดีต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากต้องรอการพิจารณาคดีไว้ขณะส่งเรื่องไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย จึงน่าจะไม่ใช่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ ที่ประสงค์จะให้การดำเนินกระบวนพิจาณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรม คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 7 อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอย่างชัดแจ้งแล้ว ทั้งการฟ้องคดีลักษณะเดียวกันนี้ ประธานศาลฎีกาก็เคยมีคำวินิจฉัยว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหลายเรื่องแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้เสนอปัญหาตามคำร้องของจำเลยทั้งสองไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย กรณีถือไม่ได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ปฏิบัติตามมาตรา 9
ตามบทบัญญัติในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ ที่ให้ศาลรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวนั้น หมายถึง กรณีที่ศาลนั้นเสนอปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย หากศาลนั้นมิได้เสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ศาลนั้นย่อมมีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ และการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจึงไม่ใช่เป็นกรณีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือมีความมุ่งหมายเพื่อจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้จำนวน 223,330.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 187,823.78 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้เสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าปรับหรือค่าเสียหายจำนวน 483,167.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้เสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าปรับหรือค่าเสียหายในอัตราวันละ 1,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบริเวณที่ดินและอาคารสถานีบริการน้ำมันและสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือสตาร์มาร์ท เลขที่ 100/17 – 20 หมู่ที่ 4 ถนนรามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบบริเวณที่ดินและอาคารสถานีน้ำมันและสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือสตาร์มาร์ทดังกล่าว พร้อมด้วยบริภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ทั้งหมดในสภาพเรียบร้อยใช้งานได้ดีตามปกติคืนให้โจทก์ และห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวอีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
หลังจากโจทก์ยื่นคำฟ้องแล้ว โจทก์ได้ยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยขอให้โจทก์เข้าครอบครองเพื่อดูแลสถานีบริการน้ำมัน สถานที่จำหน่ายสินค้าเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ของโจทก์ เพื่อมิให้เกิดอันตราย สูญหาย หรือถูกทำลาย จำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนัดไต่สวนคำขอ
ก่อนการไต่สวนคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าหรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าเพราะเป็นโมฆะกรรมไปแล้ว จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ขอให้ส่งเรื่องไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า กรณีเช่นนี้เคยมีคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จึงไม่ใช่กรณีที่มีปัญหา ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า กรณีเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาจึงไม่รับอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์
ต่อมาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางทำการไต่สวนคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์แล้วมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์เข้าครอบครองเพื่อดูแลทำประโยชน์ในสถานีบริการน้ำมัน สถานที่จำหน่ายสินค้าเครื่องมือและอุปกรณ์จำหน่ายน้ำมัน ตั้งอยู่เลขที่ 100/17 – 20 หมู่ที่ 4 ถนนรามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะมีคำพิพากษา โดยให้โจทก์วางเงินประกันความเสียหาย 2,000,000 บาท ไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ตกเป็นพับ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งให้นำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า คำร้องของจำเลยทั้งสองไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้แก้ไขคำสั่งวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยขอให้จำเลยทั้งสองครอบครองและดำเนินการในสถานีบริการน้ำมันเฉพาะในส่วนของการซ่อมรถ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง การล้างรถและการปะยางรถยนต์ต่อไป ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่าให้รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า ตามคำสั่งศาลฎีกาดังกล่าว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ภายหลังที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ส่งเรื่องให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ มีผลให้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาแก่โจทก์เป็นการไม่ชอบไปด้วย ขอให้เพิกถอนคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่ากระบวนพิจารณาชอบแล้ว ไม่มีเหตุต้องเพิกถอน ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฉบับแรกว่า การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ส่งไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 9 บัญญัติว่า “ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดขึ้นในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด” คำว่า ปัญหา หมายถึง ข้อสงสัย กรณีมีปัญหาหมายถึงกรณีมีข้อสงสัย ย่อมหมายถึงศาลที่รับพิจารณาคดีนั้นๆ ไว้แล้ว มีความสงสัยว่าคดีนั้นจะไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาในศาลของตน จึงต้องส่งเรื่องให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 โดยไม่มีข้อสงสัย การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คำร้องของจำเลยทั้งสองย่อมต้องมีเหตุผลอันสมควรให้ศาลเกิดข้อสงสัยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจริงหรือไม่ ไม่ใช่ว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดยื่นคำร้องว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลนั้น ศาลนั้นจะต้องเสนอไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยทุกเรื่อง เพราะจะทำให้การพิจารณาคดีต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากต้องรอการพิจารณาคดีไว้ขณะส่งเรื่องไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย จึงน่าจะไม่ใช่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ที่ประสงค์จะให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรม ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองอ้างเหตุว่าตามคำฟ้องของโจทก์อ้างสิทธิตามสัญญาเอกสารท้ายคำฟ้อง เอกสารดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเช่า หาใช่เป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิไม่ เพราะสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าตามฟ้องไม่ได้มีการจดทะเบียนตามกฎหมาย จึงใช้บังคับไม่ได้ โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิตามสัญญาที่เป็นโมฆะมาบังคับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาได้ เห็นได้ว่า ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองก็ยอมรับว่าคำฟ้องโจทก์ได้อ้างสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้ามาด้วย และศาลต้องวินิจฉัยถึงสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าตามคำฟ้องของโจทก์ว่า สามารถใช้บังคับตามกฎหมายได้หรือไม่ กรณีนี้เห็นได้ว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 7 อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้งแล้ว ทั้งการฟ้องคดีลักษณะเดียวกันนี้ ประธานศาลฎีกาก็เคยมีคำวินิจฉัยว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหลายเรื่องแล้ว กรณีจึงถือว่าคำร้องของจำเลยทั้งสองไม่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้เสนอปัญหาตามคำร้องของจำเลยทั้งสองไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยโดยมีคำสั่งในคำร้องของจำเลยทั้งสองว่า กรณีไม่มีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ให้ยกคำร้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย กรณีถือไม่ได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ปฏิบัติตามมาตรา 9 ดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฉบับที่สองว่ากระบวนพิจารณาและคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่อนุญาตตามคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ในระหว่างการไต่สวนคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางควรต้องรอการไต่สวนคำขอดังกล่าวไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้เสนอปัญหาให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย ทั้งไม่รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว กลับดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาให้แก่โจทก์ คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศละวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ที่ให้ศาลรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวนั้น หมายถึง กรณีที่ศาลนั้นเสนอปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย หากศาลนั้นมิได้เสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ศาลนั้นย่อมมีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ และการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจึงไม่ใช่เป็นกรณีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือมีความมุ่งหมายเพื่อจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิจารณาให้แก่โจทก์ ไม่ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่ากระบวนพิจารณาในส่วนนี้ชอบแล้ว ไม่มีเหตุต้องเพิกถอน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฉบับที่สองนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share