คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10523/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.อ. มาตรา 95 วรรคแรก บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ” ซึ่งหมายความว่า เมื่อฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้วอายุความจึงหยุดนับ คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2547 ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 100 บาท จึงมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) โจทก์นำจำเลยมาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 580/2549 ของศาลชั้นต้น ซึ่งอยู่ภายในเวลา 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิด อายุความจึงหยุดนับ เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ และโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ภายในกำหนดตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่ 26 เมษายน 2549 คดีโจทก์สำหรับความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58, 83, 91, 92, 295, 358, 364, 365, 371 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 358, 364, 365 (1) (2) (3) (ที่ถูก มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364), 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและฐานทำให้เสียทรัพย์ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนคำขอให้ริบของกลางนั้น ศาลมีคำพิพากษาให้ริบแล้ว จึงให้ยกคำขอมาตรา 29 ส่วนคำขอให้ริบของกลางนั้น ศาลมีคำพิพากษาให้ริบแล้ว จึงให้ยกคำขอ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์กับความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 โจทก์ฟ้องจำเลยนายประภาส นายขจรศักดิ์ นายสมบัติ และนายเกรียงไกร ในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย หรือไม่มีเหตุสมควร เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2547 ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2549 นายประภาส นายขจรศักดิ์ นายสมบัติ และนายเกรียงไกร ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้น มีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ภายใน 7 วัน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 580/2549 ของศาลชั้นต้น วันที่ 26 เมษายน 2549 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย หรือไม่มีเหตุสมควร ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 วรรคแรก บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ” ซึ่งหมายความว่า เมื่อฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้วอายุความจึงหยุดนับ คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2547 ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 100 บาท จึงมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) โจทก์นำจำเลยมาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 580/2549 ของศาลชั้นต้น ซึ่งอยู่ภายในเวลา 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดอายุความจึงหยุดนับ เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่และโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ภายในกำหนดตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ในวันที่ 26 เมษายน 2549 คดีโจทก์สำหรับความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรจึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องสำหรับความผิดฐานดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่าขาดอายุความ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ประกอบมาตรา 83 อีกกระทงหนึ่ง ปรับ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share