แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับการฟ้องร้องคนละมาตรา อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกมีอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 และที่ 3มิใช่ผู้จัดการมรดกแต่เป็นทายาทและถูกโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก ย่อมเป็นคดีมรดก อันมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องจะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วย ก็หาอาจทำให้สิทธิเรียกร้องแบ่งมรดกของโจทก์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทกลับเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้ไม่
ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ” มาตรา 193/14 บัญญัติว่า “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1)… กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง…” และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ” วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น” โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 และอยู่ในบังคับตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ศาลตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ณ. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจดทะเบียนโอนมรดกพิพาทให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ณ. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยไม่ได้โอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ยังครอบครองทรัพย์มรดกโดยอาศัยในบ้าน ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกพิพาทอยู่ จึงเป็นกรณีที่ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยอันแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับว่าโจทก์ยังครอบครองมรดกอยู่อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14
แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันแบ่งแยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องหนึ่งในสี่ส่วนให้โจทก์และแบ่งรายได้สุทธิของโรงแรมทุกเดือนหนึ่งในสี่ส่วนให้โจทก์ นับแต่วันฟ้องจนกว่าการแบ่งทรัพย์มรดกแล้วเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การและจำเลยที่ 2 กับที่ 3 แก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และมีคำสั่งเรียกนางวิยดา ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายณรงค์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทและในฐานะผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 28001 ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์หนึ่งในสี่ส่วน ให้ยกคำขออื่น ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า นายณรงค์และนางสมวงศ์ เป็นสามีภริยากันชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ จำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 นายณรงค์ถึงแก่ความตาย นายณรงค์มีทรัพย์สินที่เป็นมรดกคือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3977 ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง คือ ตึกแถวสามชั้นครึ่ง เลขที่ 467 หมู่ที่ 2 ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ชื่อบ้านวงศ์ดารินทร์ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพโดยทำเป็นโรงแรมขนาด 15 ห้อง ซึ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนายณรงค์ได้จดทะเบียนจำนองเป็นประกันเงินกู้ไว้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ขณะที่นายณรงค์ยังมีชีวิตอยู่ในวงเงิน 1,400,000 บาท ที่พิพาทกันคดีนี้ นายณรงค์ไม่ได้ทำพินัยกรรมและตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ศาลจังหวัดชลบุรีมีคำสั่งตั้งนางสมวงศ์เป็นผู้จัดการมรดกของนายณรงค์ตามสำเนาคำสั่ง คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1467/2538 หมายเลขแดงที่ 1589/2538 ของศาลจังหวัดชลบุรี นางสมวงศ์จดทะเบียนรับโอนมรดกในฐานะผู้จัดการมรดก นางสมวงศ์ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทของนายณรงค์โดยมรดกพิพาทยังติดจำนองอยู่ นางสมวงศ์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นเงิน 846,609.64 บาท แล้วนางสมวงศ์จดทะเบียนโอนเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคารเป็นประกันการกู้เงินในวงเงิน 1,000,000 บาท หลังจากนั้นเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 28001 ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี แทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3977 ซึ่งนายณรงค์ได้ยื่นคำขอและนำรังวัดไว้ก่อนตายครั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ไถ่ถอนจำนอง นอกจากนี้ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายณรงค์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันฟ้องโจทก์ กรมที่ดินและธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) รวม 3 คน ให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2788 ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระหว่างนายณรงค์กับโจทก์และเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมจำนองที่ดินระหว่างโจทก์และธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน) โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ปลอมหนังสือมอบอำนาจของนายณรงค์ขณะที่ยังมีชีวิตแล้วโอนที่ดินเป็นของโจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว แล้วนำไปจำนองไว้แก่ธนาคาร ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการให้และจำนองตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 250/2544 หมายเลขแดงที่ 1114/2546 โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว) แต่ผู้เดียวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนการให้และจำนองตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 53/2547 หมายเลขแดงที่ 2095/2549 ของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว) แต่ผู้เดียวฎีกา คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วมว่า คดีตามคำฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีมรดกซึ่งมีอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 หรือไม่ เห็นว่า คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับการฟ้องร้องคนละมาตรา โดยอายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกจะมีอายุความตามมาตรา 1754 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิใช่ผู้จัดการมรดกแต่เป็นทายาทและถูกโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก ย่อมเป็นคดีมรดกอันมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องจะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วยก็หาอาจทำให้สิทธิเรียกร้องแบ่งมรดกของโจทก์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทกลับเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีจัดการมรดกมิใช่คดีมรดกมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วมฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วมว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 หรือไม่ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ย้อนสำนวน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/9 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ” มาตรา 193/14 บัญญัติว่า “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1) กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง” และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ” วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น” การที่โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบังคับตามมาตรา 1754 ดังวินิจฉัยมาแล้ว ยังอยู่ในบังคับตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่านายณรงค์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 การที่ศาลตั้งนางสมวงศ์เป็นผู้จัดการมรดกของนายณรงค์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แม้นางสมวงศ์ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจดทะเบียนโอนมรดกพิพาทให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายณรงค์เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยไม่ได้โอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ยังครอบครองทรัพย์มรดกโดยอาศัยในบ้านวงศ์ดารินทร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกพิพาทอยู่ จึงเป็นกรณีที่นางสมวงศ์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยอันแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับโจทก์ยังครอบครองมรดกอยู่อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 เช่นกัน อนึ่ง แม้โจทก์จะออกจากบ้านวงศ์ดารินทร์ไปอยู่ที่อื่น เมื่อปี 2541 ก็ยังถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกอยู่โดยนางสมวงศ์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยึดถือไว้แทน คำเบิกความของจำเลยที่ 2 สอดคล้องกับเอกสารโดยเฉพาะเอกสาร เป็นเอกสารราชการที่เจ้าพนักงานรับรองความถูกต้องจึงฟังได้ว่ามีเหตุการณ์ตามเอกสารจริงและฟังได้ว่า โจทก์คงทราบเรื่องจากธนาคารฯแล้ว ดังจะเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า นางสมวงศ์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอรับโอนมรดกมาเป็นของตนขณะทรัพย์มรดกยังติดจำนอง ต่อมาได้ไถ่ถอนจำนองเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2543 หลังจากมีหนังสือแจ้งธนาคารฯ เพียง 2 เดือนเศษ และในวันเดียวกันนั้น นางสมวงศ์ได้โอนส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวของนางสมวงศ์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารฯ ได้แจ้งแก่โจทก์ว่าจะไม่มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ตามที่นางสมวงศ์แจ้งอย่างช้าไม่เกินวันที่ 17 มกราคม 2543 คือวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดนับแต่วันดังกล่าวอย่างช้าไม่เกินวันที่ 17 มกราคม 2543 การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์ย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2547 จึงเกิน 1 ปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วมฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาว่าทรัพย์มรดกพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายณรงค์และนางสมวงศ์หรือไม่ กับปัญหาว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วมไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 28001 ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์หนึ่งในสี่และที่ขอให้แบ่งรายได้สุทธิของโรงแรมทุกเดือนหนึ่งในสี่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ