คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3940/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยกำหนดให้พนักงานมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงาน ขึ้นไปนายจ้างอาจให้แสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการ แม้ใบรับรองแพทย์ที่โจทก์นำมาแสดงจะมิใช่ของสถานพยาบาลของทางราชการ แต่ก็ออกโดยแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง จึงเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย ไม่ถือว่าโจทก์ขาดงาน
การที่โจทก์ไม่เดินทางไปศาลตามหน้าที่ เนื่องจากโจทก์ทราบว่าจำเลยให้บุคคลอื่นไปแทนโจทก์แล้ว ถือว่าโจทก์มีเหตุที่จะไม่ไปศาลได้ และโจทก์ก็ได้เดินทางไปทำงานที่สำนักงานของจำเลย โดยแสดงใบรับรองแพทย์ถึงสาเหตุการหยุดงานเพราะป่วยต่อจำเลย จึงไม่เป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 14,335 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 91,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ของเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ค่าจ้างค้างจ่าย 3,965 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 1,830 บาท และค่าชดเชย 54,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 14,335 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 30,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 1,830 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ 19 กันยายน 2554 เป็นต้นไป กับค่าจ้างค้างจ่าย 3,965 บาท และค่าชดเชย 54,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ 19 กันยายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งธุรการอรรถคดี มีหน้าที่ไปเบิกความเป็นพยานศาล วันจันทร์ถึงวันศุกร์เริ่มงานเวลา 8.30 ถึง 17.30 นาฬิกา ส่วนวันเสาร์เริ่มงานเวลา 9 ถึง 15 นาฬิกา ได้รับค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 9,150 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนวันที่ 10, 12 และ 13 กันยายน 2554 โจทก์หยุดงานโดยไม่ยื่นใบลาต่อผู้บังคับบัญชา จำเลยจึงบอกเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา เนื่องจากโจทก์ขาดงานติดต่อกัน 3 วัน และฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชาไม่ไปเบิกความเป็นพยานศาลในวันที่ 14 กันยายน 2554 ที่โจทก์มาทำงานวันแรกหลังจากหยุดงาน โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันเดียวกัน จำเลยกำหนดให้มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับพนักงานปีละ 8 วัน โดยในปี 2554 โจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิในการลาหยุดพักผ่อนประจำปี และค้างจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 ถึง 13 กันยายน 2554 แล้ววินิจฉัยว่า ตามระเบียบข้อบังคับการทำงาน หมวดที่ 4 ข้อ 4.1 กำหนดให้พนักงานที่ลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้พนักงานแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการ โจทก์กลับมาทำงานในวันที่ 14 กันยายน 2554 โดยนำใบรับรองแพทย์ของคลินิกแพทย์บางใหญ่และของโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ มาแสดงถึงสาเหตุการหยุดงานเพราะป่วยในวันที่ 11 ถึง 13 กันยายน 2554 สำหรับวันที่ 11 ดังกล่าว ตรงกับวันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ ส่วนการหยุดงานในวันที่ 10 กันยายน 2554 โจทก์ไม่ได้แจ้งให้ผู้ใดทราบรวมทั้งไม่ได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยด่วนในวันที่ไม่สามารถมาทำงานได้ถึงสาเหตุที่เจ็บป่วยนั้น เป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของการหยุดงานเท่านั้น แม้เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับก็เป็นเพียงความผิดเล็กน้อย ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เคยตักเตือนโจทก์ โจทก์จึงไม่ได้ขาดงานติดต่อกันเกิน 3 วันทำงาน อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยนำเหตุนี้มาเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าไม่ได้ ส่วนกรณีที่โจทก์ไม่เดินทางไปศาลแขวงพระนครใต้ตามหน้าที่ในวันที่ 14 กันยายน 2554 เนื่องจากโจทก์ทราบว่าจำเลยได้จัดให้นางสาวณภัทวราญ์ไปแทน ถือว่าจำเลยได้ยกเลิกคำสั่งให้โจทก์ไปศาลตามเดิมแล้ว จึงไม่จำเป็นที่โจทก์ต้องเดินทางไปศาลซ้ำอีก มิใช่เพราะโจทก์จงใจฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาแต่อย่างใด และไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามระเบียบข้อบังคับการทำงาน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ย
มีปัญหาตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ใบรับรองแพทย์ที่ออกให้โดยคลินิกแพทย์บางใหญ่และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ มิใช่เป็นสถานพยาบาลของรัฐ เมื่อปรับข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อแปลความในระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 4 ข้อ 4.1 แล้ว ย่อมไม่ถือว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่เป็นการลาป่วยที่ชอบมีผลทำให้โจทก์ไม่สามารถหยุดงานได้และถือเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่นั้น เห็นว่า ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 4 วันลาและหลักฐานการลา ได้กำหนดให้พนักงานมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไปนายจ้างอาจให้พนักงานแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการ ดังนั้น แม้ใบรับรองแพทย์จะมิใช่ของสถานพยาบาลของทางราชการ แต่ก็ออกโดยแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง ใบรับรองแพทย์จึงเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการทำงานแล้ว การลาป่วยของโจทก์จึงชอบด้วยระเบียบข้อบังคับของจำเลย ไม่ถือว่าโจทก์ขาดงาน อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามที่จำเลยอุทธรณ์ประการต่อไปว่า การเดินทางไปศาลเป็นหน้าที่ของโจทก์ แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยจัดให้บุคคลอื่นไปแทนแล้วก็ตาม แต่ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย หมวด 7 ข้อ 7. 2 ไม่มีข้อยกเว้นที่โจทก์จะไม่ต้องเดินทางไปศาลซ้ำอีกเพื่อปฏิบัติหน้าที่และไม่ปรากฏว่าจำเลยยกเลิกคำสั่งเดิมที่ให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด เมื่อโจทก์ไม่ไปก็ต้องถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชาเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ไม่เดินทางไปศาลตามหน้าที่เนื่องจากโจทก์ทราบว่าจำเลยได้จัดให้บุคคลอื่นไปแทนโจทก์แล้ว ถือว่าโจทก์มีเหตุที่จะไม่ไปศาลได้และโจทก์ได้เดินทางไปทำงานที่สำนักงานของจำเลยโดยแสดงใบรับรองแพทย์ถึงสาเหตุการหยุดงานเพราะป่วยต่อจำเลย จึงไม่เป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share