แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำของจำเลยทั้งสี่จะมีมูลครบองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 พยานหลักฐานของโจทก์จะต้องมีมูลเพียงพอให้รับฟังได้ว่าสินค้าที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายนั้น เป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่มีบุคคลใดทำขึ้นโดยปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรของโจทก์ด้วย เมื่อไม้กอล์ฟอุปกรณ์เล่นกอล์ฟ และถุงกอล์ฟจำนวน 25 ชิ้น ของกลาง เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นโดยบริษัท ค. ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “KAMUI” ไว้ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2540 ส่วนโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวไว้ในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2553 อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่บริษัทดังกล่าวได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ที่ประเทศญี่ปุ่นกว่าสิบปี ทั้งในฟ้องอ้างว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทไม้กอล์ฟแต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “KAMUI” ไว้โดยชอบในประเทศญี่ปุ่นด้วย เมื่อสินค้าของกลางทั้งหมด เป็นสินค้าที่ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “KAMUI” ซึ่งมีบริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าที่ได้รับการจดทะเบียนไว้อยู่ก่อนแล้วในประเทศญี่ปุ่น จึงหาใช่สินค้าที่มีบุคคลใดจัดทำขึ้นโดยปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่ระงับหรือละเว้นการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า KAMUI ของโจทก์ การนำเข้ามาจำหน่ายเสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่าย รวมทั้งการประกาศโฆษณาในสื่อต่าง ๆ ทั้งทางเว็บไซต์และหนังสือนิตยสารกอล์ฟทั้งหมด
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีไม่มีมูลพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา คงรับฟ้องคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่มีมูลอันเป็นความผิดในข้อหาร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า”KAMUI” ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียน จึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 นั้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่จะมีมูลครบองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 พยานหลักฐานของโจทก์จะต้องมีมูลเพียงพอให้รับฟังได้ว่าสินค้าที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายนั้น เป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่มีบุคคลใดทำขึ้น โดยปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรของโจทก์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากนายปรีดา พยานโจทก์ตอบทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถามค้านว่า ไม้กอล์ฟ อุปกรณ์เล่นกอล์ฟ และถุงกอล์ฟจำนวน 25 ชิ้น ของกลาง เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นโดยบริษัทคามุยเวิร์ค เจแปน จำกัด ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “KAMUI” ไว้ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2540 ตามสำเนาทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแนบท้ายหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้อง ส่วนโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวไว้ในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2553 อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่บริษัทคามุย เวิร์ค เจแปน จำกัด ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ที่ประเทศญี่ปุ่นกว่าสิบปี ทั้งในฟ้องได้อ้างว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทไม้กอล์ฟแต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “KAMUI” ไว้โดยชอบในประเทศญี่ปุ่นด้วย เมื่อสินค้าของกลางทั้ง 25 ชิ้น เป็นสินค้าที่ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “KAMUI” ซึ่งมีบริษัทคามุย เวิร์ค เจแปน จำกัด เป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าที่ได้รับการจดทะเบียนไว้อยู่ก่อนแล้วในประเทศญี่ปุ่น จึงหาใช่สินค้าที่มีบุคคลใดจัดทำขึ้นโดยปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรไม่ การที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันนำสินค้าดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้านั้น จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่าคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2349/2557 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน