แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องกองมรดกของจำเลยที่ 5 โดย ฐ. จำเลยที่ 4 ในฐานะทายาท จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 5 มีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยที่ 5 ไม่มีหน้าที่แก้คดีแทน ตามคำให้การของจำเลยที่ 4 ปฏิเสธว่าจำเลยที่ 4 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์ของจำเลยที่ 5 ที่ตาย หรือว่าตนไม่ยอมรับฐานะเช่นนั้นตามกฎหมาย ศาลจึงต้องไต่สวนให้ได้ความดังกล่าวและมีคำสั่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 83 วรรคสอง แต่ศาลล้มละลายกลางมิได้ดำเนินการ คงพิจารณาสืบพยานโจทก์ไป จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลฎีกาสมควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 5 เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (เดิม) และให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องและมีคำพิพากษาใหม่เฉพาะจำเลยที่ 5
จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในวันฟ้องคดี จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบ 1087 เมื่อศาลพิจารณาและได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด โดยที่ฟ้องของโจทก์มีคำขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้วเช่นนี้ โจทก์ไม่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ถือได้ว่าโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 โดยโจทก์ไม่จำต้องมีคำขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายในภายหลังอีก
คดีนี้นับแต่เสร็จการพิจารณา ศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ครั้นถึงวันนัดจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องอ้างว่าได้เจรจาขอประนอมหนี้กับโจทก์ และขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งออกไปอีกหลายนัด ครั้งสุดท้ายศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันที่ 19 ธันวาคม 2555 อันเป็นเวลาภายหลังเสร็จการพิจารณานานถึง 2 ปีเศษ ซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ได้กระทำโดยเร็วตามที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งห้าเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 ให้การว่า ขณะจำเลยที่ 5 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 5 มีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่เป็นทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยที่ 5 จึงไม่มีสิทธิและหน้าที่แก้คดีแทนจำเลยที่ 5 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 4 เด็ดขาดและพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 5 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และมาตรา 82 ประกอบมาตรา 84 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 และกองมรดกของจำเลยที่ 5 ผู้ตายใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และกองมรดกของจำเลยที่ 5 สำหรับค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควรและพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนนี้ให้เป็นพับ (ที่ถูก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ)
โจทก์และจำเลยที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า ลูกหนี้ทั้งห้าเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา 6 คดี ได้แก่ คดีของศาลแพ่งธนบุรี หมายเลขแดงที่ 7355/2543 คดีของศาลแพ่งธนบุรี หมายเลขแดงที่ 7149/2543 คดีของศาลแพ่งธนบุรี หมายเลขแดงที่ 7014/2543 คดีของศาลแพ่งธนบุรีหมายเลขแดงที่ 3761/2543 คดีของศาลแพ่งธนบุรี หมายเลขแดงที่ 3072/2543 และคดีแพ่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หมายเลขแดงที่ ก.ค.180/2543 จำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ กค.180/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 11062 ตำบลบางยาง (ตลาดกระทุ่มแบน) อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ของจำเลยที่ 4 และที่ดินโฉนดเลขที่ 11929 ตำบลบางยาง (ตลาดกระทุ่มแบน) อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ของจำเลยที่ 5 ออกขายทอดตลาดได้เงิน 11,260,000 บาท แต่ไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษารวม 37,813,546.19 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษารวม 32,359,083.71 บาท และจำเลยที่ 5 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษารวม 32,313,487.98 บาท อันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน สำหรับจำเลยที่ 1 คู่ความไม่อุทธรณ์ คดีเฉพาะจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง สำหรับจำเลยที่ 5 นั้น ปรากฏตามคำฟ้องว่า จำเลยที่ 5 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2552 อันเป็นเวลาก่อนฟ้อง โจทก์จึงฟ้องกองมรดกของจำเลยที่ 5 โดยนายฐิติ (จำเลยที่ 4) ในฐานะทายาท แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ยื่นคำให้การว่า จำเลยที่ 5 มีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยที่ 5 ไม่มีหน้าที่แก้คดีแทนจำเลยที่ 5 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 83 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลที่ถูกเรียกไม่มาศาลหรือมาศาลแต่คัดค้านว่าตนไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์ของลูกหนี้ที่ตายก็ดีหรือว่าตนไม่จำต้องยอมรับฐานะเช่นนั้นได้ตามกฎหมายก็ดี ให้ศาลทำการไต่สวนถ้าศาลเห็นว่าบุคคลนั้นควรเข้าแก้คดีแทนลูกหนี้ที่ตาย ก็ให้สั่งเป็นผู้แทนลูกหนี้นั้น มิฉะนั้นให้สั่งให้เจ้าหนี้จัดการขอให้เรียกบุคคลอื่นเข้ามาแก้คดีแทนลูกหนี้ที่ตายต่อไป” คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 4 เป็นทายาทโดยธรรมของจำเลยที่ 5 ตามคำให้การของจำเลยที่ 4 ปฏิเสธว่า จำเลยที่ 4 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์ของจำเลยที่ 5 ที่ตาย หรือว่าตนไม่จำต้องยอมรับฐานะเช่นนั้นได้ตามกฎหมาย ศาลล้มละลายกลางจึงต้องไต่สวนให้ได้ความว่า จำเลยที่ 4 อยู่ในฐานะทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์ของจำเลยที่ 5 ที่ตาย หรือว่าตนไม่จำต้องยอมรับฐานะเช่นนั้นตามกฎหมายหรือไม่ และมีคำสั่งตามมาตรา 83 วรรคสอง เสียก่อน แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 26 สิงหาคม 2553 ศาลล้มละลายกลางมิได้ดำเนินการตามมาตรา 83 วรรคสอง คงพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปโดยมิได้ไต่สวนให้ได้ความว่า จำเลยที่ 4 อยู่ในฐานะทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์ของจำเลยที่ 5 ที่ตาย หรือว่าตนไม่จำต้องยอมรับฐานะเช่นนั้นตามกฎหมาย และมีคำสั่งตามมาตรา 83 วรรคสอง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลฎีกาสมควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 5 เสีย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (เดิม) และให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องและมีคำพิพากษาใหม่เฉพาะจำเลยที่ 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบด้วยมาตรา 247 (เดิม) และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (เดิม)
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จะต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอยู่ในวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 มาตรา 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 เมื่อศาลล้มละลายกลางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด โดยที่ฟ้องของโจทก์มีคำขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้วเช่นนี้ โจทก์ก็ไม่จำต้องนำสืบว่า จำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวด้วย ถือได้ว่าโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 โดยโจทก์ไม่จำต้องมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายในภายหลังอีก ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ภายหลังที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ล้มละลายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 จึงหาใช่ข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วในเวลาเริ่มต้นการฟ้องคดีล้มละลายไม่ ทั้งจำเลยที่ 3 ไม่ได้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคดีด้วย กรณีไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 3 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) เมื่อโจทก์มิได้นำสืบว่า จำเลยที่ 3 มีทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดเท่าไร อันจะแสดงถึงความมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามความเป็นจริงอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ความจริงว่า จำเลยที่ 3 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนจำเลยที่ 4 ถูกยึดทรัพย์จำนองตามหมายบังคับคดี กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 4 มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (5) ภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายย่อมตกแก่จำเลยที่ 4 แต่จำเลยที่ 4 แถลงไม่สืบพยาน จึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่จำเลยที่ 4 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 4 ประสงค์จะขอประนอมหนี้กับโจทก์โดยขอชำระหนี้เป็นเงิน 3,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 4 ได้รวบรวมเงินจากกองสวัสดิการกองทุนสหกรณ์ออมทรัพย์กรมศุลกากร สมทบกับเงินที่ได้รับการช่วยเหลือจากญาติของจำเลยที่ 4 เนื่องจากจำเลยที่ 4 รับราชการที่กรมศุลกากร มีเงินเดือนเป็นรายได้จากการประกอบอาชีพนำมาใช้ในการประนอมหนี้แก่โจทก์ได้ แต่ศาลล้มละลายกลางไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาตามคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 19 ธันวาคม 2555 เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 มิได้คัดค้านคำสั่ง คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่วินิจฉัยถึงความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยที่ 4 ว่า ไม่ถูกต้องแต่อย่างใด คดีนี้นับแต่เสร็จการพิจารณาในวันที่ 26 สิงหาคม 2553 ศาลล้มละลายกลางได้ให้โอกาสจำเลยที่ 4 โดยให้นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ครั้นถึงวันนัด จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องอ้างว่าได้เจรจาขอประนอมหนี้กับโจทก์และขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งออกไปอีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันที่ 19 ธันวาคม 2555 อันเป็นเวลาภายหลังเสร็จการพิจารณานานถึง 2 ปีเศษ ซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ได้กระทำโดยเร็วตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้โดยให้โอกาสจำเลยที่ 4 ไปเจรจากับโจทก์เกี่ยวกับการประนอมหนี้ตามฟ้องหลายครั้งนับว่าได้ให้โอกาสแก่จำเลยที่ 4 มากแล้ว อีกทั้งการที่ศาลล้มละลายกลางไม่อนุญาตให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำร้องขอจำเลยที่ 4 ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยที่ 4 จะอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) (เดิม) พฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 ที่ขอประนอมหนี้กับโจทก์ ในระหว่างนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งบ่งชี้ถึงความไม่สามารถในการชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ ไม่ปรากฏว่าก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 4 ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์จนต้องมีการบังคับคดี กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 4 ล้มละลาย อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และมาตรา 89 ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 สำหรับค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร ให้ยกคำพิพากษาศาลล้มละลายกลางที่ให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 5 โดยให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลางระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 ในวันพิจารณาจนถึงวันมีคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 5 และให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 ให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 83 วรรคสอง แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลล้มละลายกลางระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 ให้รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาและคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ