คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7083/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 ให้ศาลแรงงานสอบถามและบันทึกคำให้การจำเลยในวันนัดพิจารณา และตามมาตรา 37 วรรคสอง บัญญัติว่าจำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาล (วันนัดพิจารณา) ก็ได้ การที่จำเลยขอเพิ่มคำให้การต่อสู้คดีว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความโดยยื่นต่อศาลในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์แต่ยังไม่ได้สืบพยานโจทก์ จำเลยจึงยื่นคำให้การเพิ่มเติมได้โดยชอบเพราะยังอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยสามารถให้การเป็นหนังสือหรือให้การด้วยวาจาได้
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่โจทก์ก็ระบุรายละเอียดว่าจำนวนเงินดังกล่าวเป็นเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่จำเลยยังจ่ายให้โจทก์ไม่ครบถ้วนตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างฟ้องเรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นจากนายจ้างซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 1,659,517.90 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 858,158.68 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2542 กล่าวหาว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง กฎหมายแรงงานและมาตรฐานสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ จึงเรียกค่าเสียหายจำนวน 1,659,517.90 บาท ซึ่งมูลกรณีที่กล่าวอ้างมาแท้จริงแล้วเป็นการเรียกค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดโดยอ้างว่าจำเลยจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วน หาใช่เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายอันแท้จริงไม่ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเงินต่างๆ ของปี 2532 ถึง 2538 เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องให้รับผิดชอบตามสัญญาจ้างแรงงานมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193 สำหรับค่าจ้างเริ่มนับแต่วันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง ส่วนค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด นับแต่วันที่ต้องชำระในแต่ละเดือน โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเกินกว่าสองปีนับแต่วันที่มีสิทธิเรียกร้องฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ขาดประโยชน์หรือไม่เพียงใดอีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่จำเลยยื่นคำให้การเพิ่มเติมต่อสู้ในเรื่องอายุความเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2542 ซึ่งเป็นวันชี้สองสถานและวันสืบพยานโจทก์นัดแรก และโจทก์ได้คัดค้านไว้แล้ว แต่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าวได้ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลมซึ่งข้อกฎหมายเกี่ยวกับคำให้การของจำเลยในคดีแรงงานนั้น มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39 ที่ให้ศาลแรงงานสอบถามและบันทึกคำให้การจำเลยในวันนัดพิจารณา และตามมาตรา 37 วรรคสอง ก็บัญญัติว่าจำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาล (วันนัดพิจารณา) ก็ได้ การที่จำเลยขอเพิ่มเติมคำให้การต่อสู้คดีว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความโดยยื่นต่อศาลในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ แต่ยังไม่ได้สืบพยานโจทก์ จำเลยจึงยื่นคำให้การเพิ่มเติมได้โดยชอบเพราะยังอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยสามารถให้การเป็นหนังสือหรือให้การด้วยวาจาได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 และมาตรา 39 ดังกล่าวแล้ว และกรณีดังกล่าวไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 มาใช้บังคับตามที่โจทก์อ้าง เพราะมิใช่เป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การหลังจากวันนัดพิจารณาที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การเพิ่มเติมนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ประการต่อไปว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานไว้ด้วย คดีของโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปี นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่ก็ระบุรายละเอียดว่าจำนวนเงินดังกล่าวเป็นเงินค่าจ้างค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่จำเลยยังจ่ายให้โจทก์ไม่ครบถ้วนตามสัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างฟ้องเรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นจากนายจ้างซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) มิใช่อายุความ 10 ปี ดังที่โจทก์อ้าง คดีโจทก์จึงขาดอายุความ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้พังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share