คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4147/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้กระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนนั้น มีความผิดโดยไม่คำนึงว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหญิงนั้นยินยอม ก็มิได้หมายความว่าเด็กหญิงนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย เมื่อเด็กหญิงทั้งสามถูกกระทำชำเรา แม้เด็กหญิงทั้งสามจะยินยอมก็เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดข้อหานี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทนเด็กหญิงทั้งสามตามป.วิ.อ. มาตรา 5 (1) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดข้อหานี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2)
แม้โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จะมิได้ระบุพยานอ้าง ส.เป็นพยานในคดีนี้ด้วยก็ตาม แต่โจทก์ในสำนวนคดีแรกได้ระบุพยานอ้าง ส. เป็นพยาน ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน จึงรับฟังคำเบิกความของ ส. เป็นพยานในสำนวนคดีนี้ได้
ความเข้าใจผิดของจำเลยเกี่ยวกับอายุของเด็กหญิงทั้งสามจะเป็นความเข้าใจผิดจริงดังที่จำเลยยกขึ้นฎีกาหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยไม่เคยยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวอ้างและนำสืบพยานในศาลชั้นต้น จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยให้ ก็เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นได้สั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มาศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการรับไว้หรือล่อไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยทุจริต เพราะจำเลยหาได้รับเด็กหญิงทั้งสามไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นไม่ เนื่องจากจำเลยมีเจตนาประสงค์จะกระทำชำเราเด็กหญิงทั้งสามเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 312 ตรี วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 312 ตรี, 317, 319 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นางปราณีมารดาเด็กหญิงดวงดาวหรือดาว นางราตรีมารดาเด็กหญิงสายรุ้งหรือรุ้ง นายคมสันต์ผู้ปกครองเด็กหญิงอริษาหรือนุ้ยและนางศรีสุดมารดาเด็กหญิงอริษาหรือนุ้ย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางปราณี นางราตรีและนายคมสันต์เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหากระทำชำเราและความผิดต่อเสรีภาพ ส่วนนางศรีสุดเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอริษาหรือนุ้ย โดยเรียกผู้ร้องดังกล่าวเป็นโจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 4 กระทง จำคุก 16 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 ตรี วรรคสอง, 317 วรรคสาม ด้วย ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม จำคุกระทงละ 5 ปี รวม 4 กระทง จำคุก 20 ปี สำหรับความผิดฐานกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก และฐานโดยทุจริต ล่อไป หรือพาไปซึ่งเด็กตามมาตรา 312 ตรี วรรคสอง เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราตามมาตรา 277 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 16 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 16 ปี รวมจำคุก 36 ปี ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 4 เข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหากระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ผู้กระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนนั้น มีความผิดโดยไม่คำนึงถึงว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหญิงนั้นยินยอม ก็มิได้หมายความว่า เด็กหญิงนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย เมื่อเด็กหญิงดวงดาว เด็กหญิงสายรุ้ง และเด็กหญิงอริษาถูกกระทำชำเรา แม้เด็กหญิงทั้งสามจะยินยอมก็เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจาก การกระทำความผิดข้อหานี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทนเด็กหญิงดวงดาว เด็กหญิงสายรุ้ง และเด็กหญิงอริษาตามลำดับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (1) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอร่วมเป็นโจทก์ในความผิดข้อหานี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 (2) คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ ซึ่งนางสาวสุริยาพรก็เบิกความยืนยันว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้นางสาวสุริยาพรยินยอมให้จำเลยกระทำชำเราต่างวันเวลากัน 2 ครั้ง จากนั้นก็ได้รับการติดต่อจากจำเลยให้พาเพื่อนรุ่นเดียวกันไปขายบริการทางเพศแก่จำเลย นางสาวสุริยาพรจึงชักชวนเด็กหญิงดวงดาวกับเด็กหญิงอริษาซึ่งเป็นเพื่อนนางสาวสุริยาพรและเด็กหญิงสายรุ้งไปขายบริการทางเพศแก่จำเลยที่โรงแรมผกาอินท์ หลังจากจำเลยกระทำชำเราเด็กหญิงดวงดาว เด็กหญิงอริษาและเด็กหญิงสายรุ้งแล้ว นางสาวสุริยาพรก็จะไปรับเงินค่าตอบแทนจากจำเลยไปแบ่งให้แก่เด็กหญิงดวงดาว เด็กหญิงอริษาและเด็กหญิงสายรุ้ง คำเบิกความของนางสาวสุริยาพรดังกล่าวมิใช่คำซัดทอดเพราะเป็นการเบิกความในชั้นพิจารณาของศาล เนื่องจากนางสาวสุริยาพรมิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย ทั้งนางสาวสุริยาพรไม่มีเหตุจูงใจในการเบิกความให้ตนพ้นความผิด ไม่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่านางสาวสุริยาพรรู้จักนายพายัพคนขับรถจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุผลที่นางสาวสุริยาพรต้องร่วมกับนายพายัพกลั่นแกล้งจำเลยตามที่จำเลยอ้าง แต่กลับได้ความจากนางสาวสุริยาพรว่า หลังเกิดเหตุคนขับรถจำเลยมาพูดคุยกับนางสาวสุริยาพรว่าหากบิดามารดาพาเด็กหญิงดวงดาว เด็กหญิงอริษาและเด็กหญิงสายรุ้งถอนคำร้องทุกข์ ไม่ดำเนินคดีแก่จำเลย จำเลยจะให้เงิน จากนั้นจำเลยให้ชายคนหนึ่งนำเงิน 15,000 บาท มามอบให้นางสาวสุริยาพรเป็นค่าประกันตัวในข้อหาพรากผู้เยาว์ จึงรับฟังคำเบิกความของนางสาวสุริยาพรประกอบคำเบิกความของเด็กหญิงดวงดาว เด็กหญิงอริษาและเด็กหญิงสายรุ้งได้ ซึ่งต่างเบิกความว่าเหตุที่ยินยอมไปให้จำเลยกระทำชำเราเพราะต้องการเงินเป็นค่าตอบแทน โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุเมื่อพันตำรวจตรีอดิศรสืบสวนทราบว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดคดีนี้ ได้จัดให้มีการชี้ภาพถ่ายต่อหน้าพนักงานอัยการและนักสังคมสงเคราะห์แล้วจัดให้มีการชี้ตัวจำเลยต่อหน้าพนักงานอัยการ นักสังคมสงเคราะห์ ทนายจำเลย และสื่อมวลชน เด็กหญิงดวงดาว เด็กหญิงอริษาและเด็กหญิงสายรุ้งต่างชี้ยืนยันตรงกันว่าจำเลยเป็นผู้กระทำชำเราเด็กหญิงดวงดาว เด็กหญิงอริษาและเด็กหญิงสายรุ้ง โดยในขณะชี้ตัวจำเลยมิได้โต้แย้งหรือคัดค้านแต่อย่างใด จึงเชื่อได้ว่าเด็กหญิงดวงดาว เด็กหญิงอริษาและเด็กหญิงสายรุ้งเบิกความไปตามความสัตย์จริง ทั้งรู้ว่าอวัยวะเพศชายกับปลัดขิกแตกต่างกันอย่างไร แม้โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จะมิได้ระบุพยานอ้างนางสาวสุริยาพรเป็นพยานในคดีนี้ด้วยก็ตาม แต่โจทก์ในสำนวนคดีแรกได้ระบุพยานอ้างนางสาวสุริยาพรเป็นพยาน ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน จึงรับฟังคำเบิกความของนางสาวสุริยาพรเป็นพยานในสำนวนคดีนี้ได้ การที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง เพราะจำเลยไม่รู้ว่าเด็กหญิงดวงดาว เด็กหญิงอริษาและเด็กหญิงสายรุ้งมีอายุยังไม่เกิน 15 ปี นั้น เห็นว่า ความเข้าใจผิดของจำเลยเกี่ยวกับอายุของเด็กหญิงดวงดาว เด็กหญิงอริษา และเด็กหญิงสายรุ้งจะเป็นความเข้าใจผิดจริงดังที่จำเลยยกขึ้นฎีกาหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยไม่เคยยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวอ้างและนำสืบพยานในศาลชั้นต้น จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นได้สั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มา
วุฒิภาวะเช่นจำเลยไม่ใช่ข้อบ่งชี้เสมอไปที่จะไม่กระทำความผิดเสียเลย ดังนี้ พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยโทรศัพท์นัดหมายให้นางสาวสุริยาพรพาเพื่อนไปขายบริการทางเพศแก่จำเลย นางสาวสุริยาพรจึงชักชวนเด็กหญิงดวงดาว เด็กหญิงอริษา และเด็กหญิงสายรุ้งไปกระทำการดังกล่าว แล้วจำเลยรับตัวเด็กหญิงทั้งสามไว้กระทำชำเราโดยเด็กหญิงทั้งสามยินยอมที่โรงแรมผกาอินท์เป็นการล่วงอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 5 และที่ 3 ตามลำดับ โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำชำเราเด็กหญิงดวงดาว อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน และพรากเด็กหญิงดวงดาวโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 กระทำชำเราเด็กหญิงอริษาอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน และพรากเด็กหญิงอริษาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 และกระทำชำเราเด็กหญิงสายรุ้งอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน และพรากเด็กหญิงสายรุ้งโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารในวันที่ 22 ธันวาคม 2543 และวันที่ 3 มกราคม 2544 แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวมิใช่เป็นการรับไว้หรือล่อไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยทุจริต เพราะจำเลยหาได้รับเด็กหญิงทั้งสามไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นไม่ เนื่องจากจำเลยมีเจตนาประสงค์จะกระทำชำเราเด็กหญิงทั้งสามเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 ตรี วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวมาด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 ตรี วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.

Share