แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เคยกระทำผิดวินัยหลายครั้งและจำเลยได้สั่งพักงานโจทก์โดยในระหว่างที่พักงานนั้นจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์มาโดยตลอด ต่อมาโจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและส่งฟ้องต่อศาลแขวงสมุทรปราการในข้อหาเล่นการพนันในวันพิจารณาคดีโจทก์ไม่ได้มาทำงาน วันรุ่งขึ้นโจทก์มาทำงาน ฉ. ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยจึงได้สั่งพักงานโจทก์ โดยสั่งในลักษณะเดียวกันกับโจทก์เคยกระทำความผิดอื่นมาก่อนทุกครั้ง โดยไม่ได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ว่าคุ้มครองแรงงานฯ นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์เพียงแต่การกล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยมิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยสั่งพักงานตามที่อุทธรณ์มาแต่อย่างใด อุทธรณ์โจทก์ประการนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
โจทก์ไปทำงานในวันรุ่งขึ้น แต่จำเลยปฏิเสธที่จะให้โจทก์เข้าทำงาน โดยสั่งพักงานโจทก์เป็นเวลานานหลายวันโดยไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 วรรคสอง ระบุว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด…” นั้น มีความหมายว่า เป็นการที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปโดยเด็ดขาดโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้ด้วย ซึ่งสภาพความเป็นนายจ้างและลูกจ้างสิ้นสุดลงไม่ใช่เรื่องการให้ลูกจ้างหยุดงานเพียงชั่วคราวซึ่งสภาพการเป็นนายจ้างและลูกจ้างยังไม่สิ้นสุดลง และลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ระหว่างให้หยุดงานชั่วคราว ลูกจ้างก็มีสิทธิเรียกเอาได้ แม้การพักงานครั้งก่อนหน้านี้โจทก์ได้รับค่าจ้างระหว่างการพักงาน และในการสั่งพักงานครั้งนี้โจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างพักงาน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยทวงถามค่าจ้างระหว่างการพักงานแล้วจำเลยปฏิเสธไม่จ่ายค่าจ้างแต่อย่างใด กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่าภายหลังโจทก์แอบมาขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ทำงานในเวลากลางคืน ถือว่าเป็นเจตนาของโจทก์ที่ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไป ดังนี้ การที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยจึงเป็นการให้โจทก์หยุดงานชั่วคราว สภาพการเป็นนายจ้างและลูกจ้างในระหว่างพักงานยังคงมีอยู่ ไม่ใช่เป็นกรณีจำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปโดยเด็ดขาด การสั่งพักงานโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 วรรคสอง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2539 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งงานครั้งสุดท้ายเป็นเสมียนขนส่ง มีหน้าที่จ่ายใบสั่งพนักงานขับรถ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 28 ของเดือน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2547 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยนายฉลอง เนตรลือชา ผู้จัดการของจำเลยพูดกับโจทก์ว่า “ในวันที่ 4 มิถุนายน 2547 ทำไมไม่มาทำงาน ไม่มาทำงานพักงานในวันนี้เลยและไม่จ่ายค่าจ้างให้” โจทก์จึงไม่ได้ทำงาน อีกประมาณ 7 วัน โจทก์ได้มาที่บริษัทจำเลยอีกครั้งหนึ่งพบกับนายฉลอง นายฉลองพูดกับโจทก์ว่า “พนักงาน ไม่ใช่พักร้อน” ต่อมาอีกประมาณ 1 เดือน โจทก์โทรศัพท์ไปที่บริษัทจำเลยและได้พูดโทรศัพท์กับนายฉลอง นายฉลองพูดทางโทรศัพท์ว่าให้โจทก์ไปทำงานกับนายบรรจง ซึ่งทำงานอยู่กับบริษัทซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับบริษัทจำเลย หลังจากนั้นโจทก์ไปพบพนักงานตรวจแรงงานจังหวัดสมุทรปราการและแจ้งเรื่องที่ถูกเลิกจ้าง ได้มีการพูดคุยกับนายฉลองทางโทรศัพท์ ต่อมาโจทก์จึงไปที่บริษัทจำเลยแล้วพบกับนายสมชาย นาคเวช ผู้บริหารของบริษัทจำเลย นายสมชาย ได้นำเงินใส่ซองให้โจทก์จำนวน 9,000 บาท โดยบอกว่าเป็นเงินโบนัส การกระทำของจำเลยข้างต้นจึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ นอกจากนั้น จำเลยได้หักเงินค่าจ้างของลูกจ้างเป็นเงินสะสมโดยจำเลยสมทบให้อีกส่วนหนึ่งและมีดอกเบี้ยจากเงินข้างต้น ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 17,666 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 79,499 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และจ่ายเงินสมทบเงินสะสม พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มีความประพฤติไม่เหมาะสมโดยไม่สนใจในการทำงานและทำผิดระเบียบคำสั่งของจำเลยอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการละทิ้งหน้าที่ไปโดยพลการและนำเงินสำรองจ่ายของบริษัทจำเลยที่สำรองไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายพนักงานขับรถไปเล่นการพนัน ในเรื่องดังกล่าวผู้จัดการทั่วไปของจำเลยจับผิดได้และได้ว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจาหลายครั้ง ในแต่ละครั้งโจทก์ก็รับปากกับผู้จัดการทั่วไปว่าจะประพฤติตนใหม่และเอาใจใส่ในการงานและไม่เล่นการพนันอีกพร้อมทั้งให้สัญญาว่าหากทำผิดและถูกจับได้อีกจะพิจารณาตัวเองไม่อยู่ให้เป็นภาระของบริษัทจำเลย ต่อมาวันที่ 2 มิถุนายน 2547 โจทก์ได้ร่วมกับพวกลักลอบเล่นการพนันจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางพลีจับกุมและนำตัวส่งฟ้องที่ศาลแขวงสมุทรปราการ ในวันที่โจทก์ไปศาลนั้น โจทก์ไม่ได้มาทำงานที่บริษัทจำเลย วันรุ่งขึ้นโจทก์มาทำงาน ผู้จัดการทั่วไปจึงสั่งพักงานโจทก์เป็นเวลา 7 วัน และให้โจทก์กลับไปนอนคิดทบทวนถึงพฤติกรรมของตนเองและให้ชี้แจงกรณีถูกดำเนินคดีให้บริษัทจำเลยทราบด้วย โดยไม่ได้เลิกจ้างหรือไล่โจทก์ออกแต่อย่างใดและผู้จัดการทั่วไปได้สำทับไปด้วยว่า “สั่งพักงานไม่ใช่พักร้อน” ซึ่งหมายความว่าเป็นการลงโทษโจทก์โดยสั่งพักงาน หลังจากโจทก์กลับไปแล้วโจทก์ก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย แม้ครบกำหนดพักงานแล้วก็ตาม แต่กลับไปสมัครทำงานอยู่ที่อื่นอีกทั้งโจทก์แอบมาขนข้าวของเครื่องใช้ออกจากบริษัทจำเลยไปในยามวิกาล จึงถือได้ว่าโจทก์ประสงค์เลิกสัญญาจ้างโดยการลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยเองโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยจากจำเลย อนึ่งเงินสะสมตามที่โจทก์ฟ้องเรียกมานั้น จำเลยหักจากโจทก์ไว้ตามระเบียบราชการว่าด้วยเงินสมทบกองทุนเงินสดทดแทนและกองทุนประกันสังคม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในส่วนนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เคยกระทำผิดวินัยหลายครั้งและจำเลยได้สั่งพักงานโจทก์โดยในระหว่างที่พักงานนั้นจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์มาโดยตลอด ต่อมาโจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและส่งฟ้องต่อศาลแขวงสมุทรปราการในข้อหาเล่นการพนัน ในวันพิจารณาคดีโจทก์ไม่ได้มาทำงาน แต่เพื่อนๆ ของโจทก์ซึ่งถูกฟ้องในคดีเดียวกันหลังจากศาลพิจารณาคดีแล้วได้กลับมาทำงาน วันรุ่งขึ้นโจทก์มาทำงานได้พบนายฉลอง เนตรลือชา ผู้จัดการทั่วไปของจำเลย นายฉลองจึงได้สั่งพักงานโจทก์ เนื่องจากโจทก์กระทำความผิดบางประการเท่านั้นโดยสั่งในลักษณะเดียวกันกับที่โจทก์เคยกระทำความผิดอื่นมาก่อนทุกครั้ง โดยไม่ได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์เพียงแต่กล่าวอ้างว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยสั่งพักงานตามที่อุทธรณ์มาแต่อย่างใด อุทธรณ์โจทก์ประการนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า เมื่อโจทก์ได้เสียค่าปรับแล้ว วันรุ่งขึ้นโจทก์ไปทำงาน แต่จำเลยปฏิเสธที่จะให้โจทก์เข้าทำงาน โดยสั่งพักงานโจทก์เป็นเวลานานหลายวันโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้ จึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง ระบุว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด…” นั้น มีความหมายว่า เป็นการที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปโดยเด็ดขาดโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้ด้วย ซึ่งสภาพความเป็นนายจ้างและลูกจ้างยังไม่สิ้นสุดลง ไม่ใช่เรื่องการให้ลูกจ้างหยุดงานเพียงชั่วคราว ซึ่งสภาพการเป็นนายจ้างและลูกจ้างยังไม่สิ้นสุดลง และลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าจ้าง ถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ระหว่างให้หยุดงานชั่วคราวลูกจ้างก็มีสิทธิเรียกเอาได้ เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นายฉลองเพียงแต่สั่งพักงานโจทก์โดยสั่งในลักษณะเดียวกันกับที่โจทก์เคยกระทำความผิดอื่น ๆ มาก่อนทุกครั้ง ดังนั้น การสั่งพักงานโจทก์จึงมีลักษณะเช่นเดียวกับที่โจทก์เคยกระทำความผิดและถูกพักงานมาก่อนหน้านี้แล้ว แม้การพักงานครั้งก่อนหน้านี้โจทก์ได้รับค่าจ้างระหว่างการพักงาน และในการสั่งพักงานครั้งนี้ โจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างพักงาน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยทวงถามค่าจ้างระหว่างพักงานแล้วจำเลยปฏิเสธไม่จ่ายให้แต่อย่างใด กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่าภายหลังโจทก์แอบมาขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ทำงานในเวลากลางคืน ซึ่งศาลแรงงานกลางเห็นว่าเป็นเจตนาของโจทก์ที่ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไป ดังนี้ การที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยจึงเป็นการให้โจทก์หยุดงานชั่วคราว สภาพการเป็นนายจ้างและลูกจ้างในระหว่างพักงานยังคงมีอยู่ ไม่ใช่เป็นกรณีจำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปโดยเด็ดขาด การสั่งพักงานโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ตามที่อุทธรณ์มา ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน