แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาข้อเท็จจริง ของจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ส่วนฎีกาข้อกฎหมายเป็นสาระแก่คดี (ที่ถูกน่าจะเป็น ไม่เป็นสาระแก่คดี) อันควรได้รับการวินิจฉัย จึงไม่รับฎีกา
จำเลยเห็นว่า ฎีกาที่ว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการ พิจารณาได้ความว่าจำเลยลักนอตกลึง ซึ่งยึดกับตัวถังรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย เป็นข้อสาระสำคัญและจำเลยได้หลงข้อต่อสู้ ศาลลงโทษจำเลย ไม่ได้นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายโปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลย ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 61)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(3) แต่โจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335,80 จึงให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(3) ประกอบมาตรา 80จำคุก 2 ปี จำเลยให้การ รับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ หนึ่งในสี่ คงเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(3) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 60)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 61)
คำสั่ง
คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปี จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริงชอบแล้ว ส่วนฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาได้หรือไม่นั้น เป็นสาระสำคัญแก่คดี จึงให้รับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวของจำเลยไว้พิจารณา