คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 117/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยทั้งสองบังคับจับตัวผู้เสียหายที่ 1 มาจากหน้าศูนย์การค้า ซ. เป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ไม่มีเหตุอันสมควรรอการลงโทษจำคุกให้
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2540 แต่โจทก์นำสืบตรงตามข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2540 และจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบต่อสู้เกี่ยวกับวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้หลงต่อสู้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริงตามฟ้องศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 309, 310, 371, 391 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง, 310 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 391 เรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธและฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายและจิตใจ มีกำหนด 1 เดือน กับปรับจำเลยที่ 2 ฐานพาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้าน และทางสาธารณะ เป็นเงิน 100 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 1 เดือน และปรับ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองนำตัวนางสาวศศิประภา ฉลาด ผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ษ – 8374 กรุงเทพมหานคร แล้วขับพาไปตามถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อไปถึงสี่แยกหลักสี่ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองพร้อมกับยึดมีดปลายแหลม 1 เล่ม เหล็กแหลม 2 ง่าม 1 อัน กับรถยนต์คันดังกล่าวเป็นของกลาง สำหรับข้อหาทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายและจิตใจ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 เบิกความเป็นพยานว่า ในวันเกิดเหตุขณะผู้เสียหายที่ 1 ยืนรอรถประจำทางที่หน้าศูนย์การค้าเซียร์รังสิต จำเลยที่ 2 เข้ามาด้านหลัง ล๊อกคอและใช้อาวุธมีดจี้คอผู้เสียหายที่ 1 แล้วจำเลยทั้งสองพาผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในรถยนต์ โดยจำเลยที่ 1 ถือเหล็กแหลมพูดข่มขู่ว่าหากขัดขืนจะแทงให้ตาบอด จำเลยที่ 1 นั่งในที่นั่งคนขับ ส่วนจำเลยที่ 2 กับผู้เสียหายที่ 1 นั่งด้านหลัง จำเลยที่ 1 ขับรถไปตามถนนวิภาวดีรังสิตมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร ขณะอยู่ในรถยนต์จำเลยที่ 2 ตบตีผู้เสียหายที่ 1 และพยายามใช้อาวุธมีดทำท่าจะแทง ผู้เสียหายที่ 1 ขัดขืนโดยจับมือของจำเลยที่ 2 ไว้ เมื่อรถยนต์แล่นมาถึงสี่แยกหลักสี่จำเลยที่ 1 ขับรถฝ่าสัญญาณไฟ จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับ ผู้เสียหายที่ 1 วิ่งลงจากรถยนต์ไปที่ป้อมตำรวจ แจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจที่อยู่ที่ป้อมตำรวจว่าถูกจำเลยทั้งสองจับตัวมาจากศูนย์การค้าเซียร์รังสิตและถูกทำร้ายร่างกาย สิบตำรวจโทอุทัย ศรีพุฒ เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า พยานทำหน้าที่ควบคุมสัญญาไฟจราจรที่สี่แยกหลักสี่ ในวันเวลาเกิดเหตุพยานได้รับแจ้งจากสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคตว่ามีการฉุดผู้หญิงมาจากศูนย์การค้าเซียร์รังสิต มุ่งหน้ามาทางแยกหลักสี่ ให้พยานสกัดจับและแจ้งหมายเลขทะเบียนรถยนต์มาด้วย พยานพบรถยนต์คันดังกล่าวจอดอยู่ตรงทางข้ามทางรถไฟ จึงไปจับกุมจำเลยทั้งสองในขณะนั้นจำเลยที่ 1 นั่งด้านหน้า ส่วนจำเลยที่ 2 นั่งด้านหลังใช้เหล็กแหลมจี้ผู้เสียหายที่ 1 จากการตรวจค้นภายในรถยนต์พบอาวุธมีด 1 เล่ม กับเหล็กแหลมใช้ย่างเนื้อ 1 อัน อยู่ที่จำเลยที่ 2 นายแพทย์อดุลย์ ไชยพันธุ์ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2540 ผู้เสียหายที่ 1 ไปพบพยานที่โรงพยาบาลบอกว่าถูกเหล็กเสียบเนื้อย่างแทงที่มือซ้าย พยานตรวจพบรอยแผลทะลุฝ่ามือไปถึงด้านหลังมืออยู่บริเวณอุ้งมือซ้ายและมีแผลถลอกที่เปลือกตาด้านขวา เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกัน สิบตำรวจโทอุทัยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการไปตามหน้าที่ไม่มีเหตุให้ระแวงว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสอง และคำเบิกความไม่มีพิรุธ เชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่สิบตำรวจโทอุทัยเข้าไปจับจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ยังคงใช้เหล็กแหลมจี้ผู้เสียหายที่ 1 อยู่ ประกอบกันคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ก็สอดคล้องกับบันทึกการจับกุม เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยทั้งสองทำขึ้นทันทีหลังเกิดเหตุนั่นเอง โดยจำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกดังกล่าวและไม่ได้โต้แย้งว่าไม่ถูกต้อง จำเลยทั้งสองก็นำสืบเจือสมว่าร่วมกันพาตัวผู้เสียหายที่ 1 มาจากหน้าศูนย์การค้าเซียร์รังสิต เพียงแต่ต่อสู้ว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ทำร้าย ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้กำลังกาย อาวุธมีด และเหล็กแหลมของกลางเป็นอาวุธบังคับเอาตัวผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นรถยนต์แล้วขับรถพาออกมาจากศูนย์การค้าเซียร์รังสิต และในระหว่างที่อยู่ในรถยนต์จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธเหล็กแหลมขู่จะทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และใช้มือตบผู้เสียหายที่ 1 ที่ใบหน้า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 จำเลยทั้งสองต้องการไปตามหานางสาวสุรวดี พูนชัย หลานของจำเลยทั้งสองที่เคยไปเที่ยวและพักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 แต่กลับถูกผู้เสียหายที่ 1 ด่าว่าและถูกเพื่อนของผู้เสียหายที่ 1 ช่วยกันใช้ไม้และรองเท้าสเกตตีที่รถยนต์จนกระจกด้านหน้าและด้านหลังแตก จำเลยทั้งสองจึงเข้าไปหยิบมีดและเหล็กแหลมมาถือไว้เพื่อป้องกันตัวนั้น ปรากฏว่าในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองมิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้าง นอกจากนี้หากจำเลยทั้งสองถูกพวกของผู้เสียหายที่ 1 รุมทำร้ายถึงขนาดใช้ไม้และรองเท้าสเกตตีที่กระจกรถยนต์จนได้รับความเสียหายกระจกแตกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จำเลยทั้งสองต้องแจ้งความแก่เจ้าพนักงานตำรวจเพราะจำเลยที่ 1 เองก็เบิกความว่าขับรถไปที่สี่แยกหลักสี่เพื่อต้องการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้แจ้งความแต่อย่างใดจึงเป็นพิรุธนอกจากนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสองที่บังคับข่มขืนใจพาตัวผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นรถยนต์มาดังกล่าวเป็นการกระทำที่ล่วงละเมิดต่อกฎหมาย จำเลยทั้งสองจะอ้างเหตุป้องกันมายกเว้นความผิดหาได้ไม่ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง พยานหลักฐานจำเลยทั้งสองไม่อาจหักล้างได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า มีเหตุอันควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองบังคับจับตัวผู้เสียหายที่ 1 มาจากหน้าศูนย์การค้าเซียร์รังสิต เป็นการกระทำที่อุกอาจไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ไม่มีเหตุอันควรรอการลงโทษจำคุกให้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง จำคุกคนละ 2 ปี นั้น ปรากฏว่ารถยนต์ของจำเลยทั้งสองก็ได้รับความเสียหายกระจกหน้าและหลังแตก น่าเชื่อว่าเหตุเกิดจากฝ่ายผู้เสียหายที่ 1 ด้วย เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรกำหนดโทษฐานนี้เสียใหม่ให้เหมาะสมกับความผิด
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2540 แต่อย่างไรก็ตาม โจทก์นำสืบตรงตามข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2540 และจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบต่อสู้เกี่ยวกับวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้หลงต่อสู้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริงตามฟ้องศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม”
พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง จำคุกคนละ 1 ปี สำหรับจำเลยที่ 2 นั้นเมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นแล้วเป็นจำคุก 1 ปี 1 เดือน และปรับ 100 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share