แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิด และเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง กระทำผิดซ้ำหนังสือเตือน ละทิ้งหน้าที่ ขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย จำเลยมีเหตุที่จะเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายเงินดังกล่าว การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ส่วนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการกระทำผิดของโจทก์ ศาลแรงงานกลางอ้างถึงหนังสือเลิกจ้างที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิด หลายประการ แต่ไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหานั้นว่า โจทก์ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ กระทำผิดอะไร ที่ไหน เมื่อใด อย่างไร โดยศาลแรงงานกลางเพียงแต่ฟังข้อเท็จจริงอื่นประกอบ แล้ววินิจฉัยคลุมไปที่เดียวว่า การกระทำของโจทก์ไม่น่าเป็นการกระทำผิดหากจะเป็นความผิดก็มิใช่ความผิดที่ร้ายแรงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ และฟังไม่ได้ว่าโจทก์ไม่เชื่อฟังหรือดื้อดึง ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาอันเป็นกรณีร้ายแรงหรือเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นคำสั่งเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายใด คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งยกคำพิพากษา ศาลแรงงานกลางเสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 51,313 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าชดเชย 251,912 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ รวมทั้งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 300,000 บาท ให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 521,224.80 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงินจำนวน 219,912 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 301,312.80 บาท นับแต่วันฟ้อง 19 สิงหาคม 2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 หรือไม่ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุป และคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น” หมายความว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานต้องทำเป็นหนังสือ โดยศาลแรงงานต้องฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนให้ยุติโดยสรุปที่เพียงพอสำหรับการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีที่คู่ความพิพาทกัน แล้วจึงวินิจฉัยชี้ขาดในแต่ละประเด็นตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ดังกล่าว พร้อมด้วยเหตุผลคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์มิได้กระทำความผิด และเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควรจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง กระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนละทิ้งหน้าที่ ขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย จำเลยมีเหตุที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง จึงมีประเด็นข้อพิพาทข้อแรกว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรงโดยกระทำผิดซ้ำคำเตือนหรือไม่ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลยหรือไม่เพียงใด ประเด็นข้อพิพาทข้อสองว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่และทิ้งงานไปเสีย ขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ทำงานหย่อนความสามารถหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยหรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทข้อสามว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำผิดตามคำให้การของจำเลยหรือไม่ มีเหตุสมควรที่เลิกจ้างหรือไม่ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ศาลแรงงานกลางต้องรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนให้ยุติโดยสังเขปที่เพียงพอสำหรับการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้น แล้วจึงวินิจฉัยชี้ขาดในแต่ละประเด็นพร้อมด้วยเหตุผล คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ส่วนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของโจทก์นั้นศาลแรงงานกลางอ้างถึงหนังสือเลิกจ้างที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ศาลแรงงานกลางอ้างถึงหนังสือเลิกจ้างที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดหลายประการ แต่ศาลแรงงานกลางไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหานั้นว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ กระทำผิดอะไร ที่ไหน เมื่อใด อย่างไรโดยศาลแรงงานกลางเพียงแต่ฟังข้อเท็จจริงอื่นประกอบ แล้ววินิจฉัยคลุมไปทีเดียวว่าการกระทำของโจทก์ไม่น่าเป็นการกระทำผิดหากจะเป็นความผิดก็ไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ และฟังไม่ได้ว่าโจทก์ไม่เชื่อฟังหรือดื้อดึง ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาอันเป็นกรณีร้ายแรงหรือเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นคำสั่งให้เลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ โดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายใด คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น ชอบที่ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ย้อนสำนวนไปยังศาลแรงงานกลางเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงให้ยุติเพียงพอแก่การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดี แล้วพิพากษาใหม่พร้อมด้วยเหตุผลตามรูปคดี.