คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1880/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์มิได้หักเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำตามสัญญาชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 นอกจากจะเป็นการไม่ใช้สิทธิของโจทก์ตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์ซึ่งประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้า แต่กลับมุ่งหวังประโยชน์ในดอกเบี้ยจากลูกค้าอันเป็นการเอาเปรียบลูกค้าโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ถือได้ว่าการที่โจทก์ไม่หักชำระหนี้ต้นเงินบางส่วนดังกล่าวแต่กลับมาฟ้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ควรได้รับการชำระหนี้แล้วจำนวน 1,500,000 บาท นั้น เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ดังนี้ แม้โจทก์จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในส่วนต้นเงิน 1,500,000 บาท อยู่ แต่ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดในส่วนเฉพาะดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวนดังกล่าว เนื่องจากการคิดดอกเบี้ยส่วนนี้เป็นเหตุที่สืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45
สัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ระบุว่า ยอมให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 19 ต่อปี) นับแต่วันที่ธนาคารได้ชำระเงินค่าสินค้าแทน แสดงว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดดังกล่าวได้แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะมิได้ผิดนัดชำระหนี้ ส่วนในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้มีข้อตกลงกันตามสัญญา ข้อ 7 ว่า ยอมให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4. นับแต่วันที่ผิดนัดจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น และยินยอมให้ธนาคารหักบัญชีเงินฝากทุกประเภทที่มีอยู่กับธนาคารเพื่อชำระหนี้ได้ทันที และเมื่อหักแล้วปรากฏยังเหลือหนี้ค้างชำระอยู่อีกเป็นจำนวนเท่าใด ยอมให้ธนาคารนำหนี้ที่เหลือค้างชำระดังกล่าวลงจ่ายในบัญชีเดินสะพัด และเป็นหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่ธนาคารพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดดังกล่าวตามประเพณีการคิดดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดของธนาคาร และหรือยินยอมให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยไม่จำต้องบอกกล่าวก่อน นับแต่วันที่เป็นหนี้ตามบัญชีเดินสะพัด สัญญาข้อนี้แสดงว่าในกรณีจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้โจทก์เรียกเก็บได้ ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดในกรณีที่มิได้ผิดนัดตามสัญญา ข้อ 4. และหากอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปก็ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยตามอัตราสูงสุดที่เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวจำเลยที่ 1 ก่อนเท่านั้น เมื่อข้อสัญญาดังกล่าวให้สิทธิโจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดอัตราเดียวกับกรณีที่ไม่ผิดนัด ไม่ใช่ข้อสัญญาที่ให้สิทธิแก่โจทก์คิดดอกเบี้ยเมื่อผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยก่อนผิดนัด ดังนี้ ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะผิดนัดหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราเดียวกัน สัญญาข้อ 7 ดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสัญญากำหนดค่าเสียหายเพื่อการผิดนัดชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า อันจะถือเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะมีอำนาจลดลงตามสมควรได้ตามมาตรา 383
แม้จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2535 โดยธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วไปสูงสุดได้และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยมาในอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แล้วก็ตาม แต่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทก่อนที่จะมีหลักเกณฑ์ใหม่ออกมาใช้บังคับ และตามสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 7. กำหนดให้สิทธิโจทก์คิดดอกเบี้ยกรณีจำเลยที่ 1 ผิดนัดในอัตราสูงสุดได้เท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่คิดก่อนผิดนัด ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 ผิดนัดโจทก์ก็ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราที่สูงไปกว่าที่โจทก์มีสิทธิเรียกก่อนจำเลยที่ 1 ผิดนัดได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในระหว่างผิดนัดชำระหนี้ได้เท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่คิดได้จากลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น ซึ่งได้แก่อัตราดอกเบี้ยทั่วไปสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดเป็นกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้ตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) ซึ่งโจทก์ต้องปฏิบัติตาม หากฝ่าฝืนจะเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาตามมาตรา 44 ดังนี้ ปัญหาว่าธนาคารโจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกค้าถูกต้องตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ ย่อมเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ในส่วนที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องไม่มีคู่ความอุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ตามคำให้การจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าการที่โจทก์นำเงินไปหักชำระหนี้ล่าช้า เป็นเหตุให้จำเลยเสียหายที่จะต้องนำค่าเสียหายมาหักหนี้แต่อย่างใด จึงไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัย นอกจากนี้ แม้โจทก์จะนำเงินนั้นไปหักชำระหนี้ทันทีก็หักชำระหนี้ได้เฉพาะดอกเบี้ย การหักชำระหนี้ล่าช้าไม่ใช่กรณีที่ทำให้ต้นเงินที่โจทก์ใช้เป็นฐานในการคิดดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงไป การกระทำของโจทก์จึงมิใช่การเอาเปรียบจำเลยทั้งสาม อันจะถือว่าเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตที่จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวและพิพากษาให้หักค่าเสียหายออกจากหนี้ 150,000 บาท จึงไม่ชอบเพราะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น แม้โจทก์จะอ้างว่า ส. และจำเลยที่ 3 นำสิทธิในเงินฝากประจำมาประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และทำสัญญายอมให้โจทก์หักหรือถอนเงินฝากเข้าชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ทันทีก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยังไม่ใช้สิทธิหักชำระหนี้ แล้วกลับมาขอให้พิพากษาให้โจทก์มีสิทธิหักชำระหนี้จากเงินฝากดังกล่าว ซึ่งจะมีผลถึง ส. ที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องมาในคดีนี้ด้วย จึงบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่ได้

Share