แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีลักทรัพย์ ถ้าเพียงแต่กันผู้ต้องหาด้วยกันมาเป็นพยานโจทก์สองปาก คดีไม่มีน้ำหนักพอที่จะลงโทษจำเลยได้แต่ถ้าโจทก์มีเจ้าทรัพย์และพนักงานสอบสวนประกอบว่าจำเลยได้รับสารภาพชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ ทั้งได้รับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนต่อหน้าเจ้าทรัพย์ด้วยคดีก็ฟังลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2494 เวลากลางวันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สมคบกันลักเอากระบือของนางสาวคำใสปัญญา ไป 1 ตัวราคา700 บาท เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 เวลากลางวันจำเลยที่ 3 ได้รับเอากระบือรายนี้ไว้จากจำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิดต่อกฎหมายและจำเลยทั้ง 3 ได้สมคบกันฆ่ากระบือ 1 ตัว โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และเสียอากรฆ่าสัตว์ตามกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขอให้ลงโทษ
จำเลยทั้ง 3 คน ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำคุกนายไจ๋ นายมุดจำเลยไว้คนละ 3 ปี ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 294 จำคุกนายอิ่นจำเลย 2 ปีตามมาตรา 321 และจำเลยทั้ง 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอากรการฆ่าสัตว์ตามโจทก์ฟ้องให้ปรับคนละ 120 บาทจำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ในการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ตามมาตรา 59 คนละ 1 ใน 3 คงจำคุกนายไจ๋ นายมุดจำเลย ไว้คนละ 2 ปี ปรับคนละ 90 บาทจำคุกนายอิ่นจำเลย 1 ปี 4 เดือนปรับ 90 บาท ไม่เสียค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 18 กับให้ใช้ราคาทรัพย์ 700 บาท ให้เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้ง 3 คนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วฟังว่า โจทก์นำสืบนายตัน สุนันท์ และนายตาจันทร์เอ้ยเป็นพยานว่า ในวันที่ฟ้องเวลาบ่าย 5 โมงนายไจ๋นายมุดจำเลยและนายตันพยานพากันไปหาลักกระบือด้วยกันพบกระบือปล่อยเลี้ยงอยู่ริมน้ำปิง20 ตัวก็ช่วยกันลักมา 1 ตัวแล้วนำไปผูกซ่อนไว้ในป่าริมน้ำแม่จา รุ่งขึ้นเวลา 7 นาฬิกานายไจ๋จำเลย นายตันพยานนายอิ่นจำเลย และนายตาพยาน พากันเอากระบือที่ผูกซ่อนไว้ไปฆ่าที่ห้วยโป่งหินหลวง แล้วชำแหละเพื่อแบ่งกันกิน ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้ง 3 คน และนายตันนายตาในฐานเป็นผู้ต้องหาในความผิดดังกล่าวแล้วและแล้วสอบสวนแยกเอานายตา นายตันเป็นพยาน เอาจำเลยทั้ง 3 คนเป็นจำเลยฟ้องศาลเช่นนี้จะเห็นได้ว่า นายตันนายตาพยานโจทก์ทั้งสองคนอยู่ในฐานะเช่นจำเลย นั้นเอง จึงเป็นพยานที่คำให้การมีน้ำหนักน้อยที่จะรับฟัง ยิ่งเมื่อมีแต่คำให้การพยานเฉพาะแต่นายตันนายตาเพียงเท่านี้แล้วจะรับฟังเป็นความจริงแน่นอนไม่ได้ จำเลยเองก็ยังนำสืบว่านายตันนายตานี้แหละเป็นคนลักกระบือมาฆ่า แล้วซัดทอดเอาจำเลยเพื่อปลีกเอาตัวรอดเมื่อพยานโจทก์มีเพียงเท่าที่กล่าว แม้จะมีคำรับสารภาพชั้นสอบสวนซึ่งจำเลยก็โต้แย้งอยู่ว่าไม่ใช่คำรับสารภาพอันแท้จริงของจำเลยเช่นนี้ไม่พอที่จะฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงดังฟ้องจึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องและปล่อยตัวจำเลยไป
อัยการโจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว กล่าวโดยทั่วไปโจทก์จำเลยคงนำสืบข้อเท็จจริงต่อสู้กันดังที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นกล่าวนั้นศาลนี้เห็นด้วยกับศาลอุทธรณ์ต่อไปว่าถ้าโจทก์เป็นแต่เพียงกันผู้ต้องหา 2 คนมาเป็นพยานโจทก์ คดีก็ไม่มีน้ำหนักพอที่จะฟังลงโทษจำเลยได้แต่ปรากฏตามท้องสำนวนว่าในการพิจารณาคดีนี้ที่ศาลชั้นต้นนอกจากนายตัน นายตา ซึ่งต้องหาร่วมกับจำเลยในชั้นสอบสวนและโจทก์ได้กันไว้เป็นพยานโจทก์ชั้นศาลแล้ว โจทก์ยังมีนางสาวคำใส ปัญญา เจ้าทรัพย์และนายโสภณ ปัญญาแก้วปลัดอำเภอผู้ทำการสอบสวนเรื่องนี้เป็นพยานอีก 2 คน ตามคำนางสาวคำใสได้ความชัดว่านอกจากกระบือนางสาวคำใสแล้ว กระบือของครูประสิทธิ์ก็ถูกลักไปเหมือนกัน และเมื่อนางสาวคำใสถูกเรียกไปสอบสวนที่อำเภอเชียงดาวนั้นนอกจากนายไจ๋นายมุดนายอิ่น ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้แล้วนายตานายตันพยานโจทก์ในคดีนี้กับนายปัน นายมูก็ถูกจับไปเหมือนกันโดยนายปัน นายมูถูกหาว่าลักควายนายประสิทธิ์ ส่วนจำเลยถูกหาว่าลักควายของนางสาวคำใสเมื่อปลัดอำเภอสอบถามจำเลย ๆ รับว่าได้ลักควายของนางสาวคำใสไปฆ่าจริง ส่วนนายโสภณ ปัญญาแก้วเบิกความว่า เรื่องนี้ได้จับนายไจ๋จำเลยกับนายตันพยานโจทก์ไปก่อน นายตันเป็นคนเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟังทั้งระบุตัวผู้ที่สมคบกันกระทำผิดด้วย ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงไปจับนายมุดนายอิ่นนายตามาตามคำบอกเล่าของนายตันพยาน ชั้นสอบสวน จำเลยรับสารภาพโดยไม่มีการขู่เข็ญคำของนางสาวคำใส และนายโสภณ ปัญญาแก้ว จึงช่วยประกอบให้คำให้การของนายตัน นายตาพยานโจทก์มีน้ำหนักน่าฟังยิ่งขึ้นส่วนที่จำเลยต่อสู้ชั้นพิจารณาว่าไม่ได้รับสารภาพชั้นสอบสวนนั้นปรากฏตามคำให้การชั้นศาลของจำเลยทั้ง 3 คนว่าต่างได้พบนายตันนายตาไล่ควายของนางสาวคำไปในวันเกิดเหตุจริง แต่หากจำเลยแก้ว่าไม่ยอมร่วมด้วยเท่านั้น เหตุที่จำเลยลงชื่อไปในคำให้การของจำเลยชั้นสอบสวน ในวันรุ่งขึ้นจากวันที่ถูกจับซึ่งปรากฏว่ามีคำรับสารภาพของจำเลยนั้น จำเลยว่าเป็นเพราะนายโสภณปลัดอำเภอบอกว่านายตัน นายตารับสารภาพแล้วให้จำเลยลงชื่อเป็นพยานให้จำเลยจึงได้ลงชื่อให้โดยจำเลยอ่านหนังสือไม่ออกและไม่มีใครอ่านคำให้การนั้นให้ฟังก่อนให้ลงชื่อ แต่จำเลยก็ยอมรับว่าเมื่อลงชื่อแล้วต้องมีผู้ประกันตัวจำเลยไป ข้อแก้ตัวของจำเลยที่ว่าได้ลงชื่อให้ในฐานะเป็นพยานจึงไม่น่าฟังเป็นความจริงนอกจากนี้ปรากฏตามเอกสารลงวันที่ 24 ธันวาคม 2494 ซึ่งโจทก์ส่งเป็นพยานในการพิจารณาอีกด้วยว่า จำเลยทั้ง 3 คนได้ไปลงนามในคำรับสารภาพในข้อหาว่า ลักควายในคดีนี้ต่อหน้าหัวหน้าพนักงานสอบสวนอำเภอเชียงดาวอีกคราวหนึ่งในวันนั้น ศาลฎีกาจึงเชื่อว่าจำเลยได้รับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ เมื่อฟังว่าจำเลยรับสารภาพชั้นสอบสวนโดยสมัครใจทั้งได้รับสารภาพต่อปลัดอำเภอผู้ทำการสอบสวนครั้งแรกต่อหน้านางสาวคำใสเจ้าทรัพย์ด้วยแล้ว คดีก็มีหลักฐานประกอบกันฟังได้สนิทว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลนี้ จึงพิพากษากลับโดยฟังว่าจำเลยทั้ง 3 คนมีความผิดให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุกประการ