คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8079/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของเจ้าของที่ดิน จึงไม่เป็นการครอบครองปรปักษ์ตราบใดที่จำเลยมิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังเจ้าของที่ดินว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 แม้จำเลยได้เข้าครอบครองที่พิพาทในช่วงเวลานับแต่ปี 2510 ถึงปี 2530 ที่โจทก์จดทะเบียนรับโอนที่พิพาทมาจากเจ้าของเดิม กรณีก็ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยความสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ทั้งการครอบครองที่พิพาทหลังจากโจทก์จดทะเบียนรับโอนที่พิพาทมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องหรือวันที่จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งก็ยังไม่ครบสิบปี จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์
จำเลยฎีกาอ้างข้อเท็จจริงมาไม่ตรงกับความเป็นจริงตามคำฟ้องและที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา จึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ที่จำเลยฎีกาเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายว่าโจทก์เสียหายไม่เกินเดือนละ 200 บาทปัญหานี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านกับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6272 ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 11,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นออกไปจากที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและมีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 6272 โดยการครอบครองปรปักษ์

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านพร้อมขนย้ายทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6272 ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนบ้านและขนย้ายทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกไปจากที่ดินดังกล่าวแล้วเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องแย้ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยมาขออาศัยในที่พิพาทและปลูกบ้านอยู่อาศัย การอยู่ในที่พิพาทของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของผู้อื่นไม่เป็นการครอบครองปรปักษ์ที่ดิน ตราบใดที่จำเลยมิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังเจ้าของที่ดินว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 จำเลยยังไม่มีสิทธิครอบครองด้วยเหตุนี้ที่จำเลยอ้างว่าได้เข้าครอบครองที่พิพาทในช่วงเวลานับแต่ปี 2510 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2530 ที่โจทก์ทั้งสองจดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดดังกล่าวทั้งแปลงมานั้น กรณีไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยความสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาสิบปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 การครอบครองที่พิพาทหลังจากโจทก์ทั้งสองจดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดดังกล่าวทั้งแปลงมาจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2538 หรือวันที่จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2538 ก็ยังไม่ครบสิบปี แม้จะฟังว่าจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์และอยู่อาศัยในที่พิพาทโดยตลอด จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาท เกินไปจากที่โจทก์ทั้งสองขอและนำสืบเพราะโจทก์ทั้งสองขอและนำสืบค่าเสียหายเดือนละ 200 บาท ในปัญหาที่ว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 20,000 บาท เกินไปจากที่โจทก์ทั้งสองขอนั้น ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 11,000 บาท และศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเพียงเดือนละ 2,000 บาทเท่านั้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงมาไม่ตรงกับความเป็นจริง ฎีกาของจำเลยส่วนนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ส่วนฎีกาเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายที่ว่าโจทก์เสียหายไม่เกินเดือนละ 200 บาทนั้น ปัญหาดังกล่าวเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยมิได้ยกข้อนี้ขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายืน

Share