แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2541 และภายหลังโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 ในระหว่างนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำความผิดอื่นอีก น่าเชื่อว่าจำเลยมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติจำเลยไว้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 92, 102, 127 ทวิ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 92, 102, 127 ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่อัตราโทษทั้งสองฐานเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 ฐานเสพยาเสพติดให้โทษขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถและขับรถ จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 (ที่แก้ไขใหม่) ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฯ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้นเห็นว่าแม้จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประจำรถได้เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้าสู่ร่างกายในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถก็ตาม แต่จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2541 และภายหลังโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 ในระหว่างนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำความผิดอื่นอีก น่าเชื่อว่าจำเลยมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติจำเลยไว้เพื่อให้มีเจ้าพนักงานคอยแนะนำ ช่วยเหลือ ตักเตือน หรือสอดส่องดูแล ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมมากกว่าที่ศาลทั้งสองไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่เพื่อให้หลาบจำและป้องปราบมิให้จำเลยกระทำความผิดทำนองนี้อีก เห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง
อนึ่ง โทษปรับที่จะลงโทษแก่จำเลยอยู่ในระดับที่ใช้กฎหมายในขณะกระทำความผิดหรือกฎหมายที่แก้ไขใหม่ก็ได้ กรณีโทษปรับจึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 (เดิม) โดยปรับ 40,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษานี้ให้จำเลยฟัง ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด และให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6”