แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์มอบอำนาจให้ ส. เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนต่อจำเลยทั้งสอง ส. ในฐานะตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำกิจการที่ตัวการมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไป ประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 1 ได้มีบทวิเคราะห์ศัพท์ คำว่าคู่ความหมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล และเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้นๆ ตามกฎหมายหรือในฐานะทนายความ ดังนั้น ส. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดีแทน ย่อมอยู่ในฐานะคู่ความมีอำนาจยื่นคำฟ้องต่อศาลได้และชอบที่จะเรียงหรือแต่คำฟ้องรวมทั้งลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องแทนโจทก์ได้ด้วย และเมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.ทนายความฯ มาตรา 33 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นทนายความว่าความในศาลหรือแต่งคำฟ้อง แต่ก็บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่าการเรียงหรือแต่งฟ้องนั้น ไม่ห้ามไปถึงบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น ส. ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์แม้มิได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง และการเรียงหรือแต่งคำฟ้องแทนโจทก์ก็มิใช่การว่าความอย่างทนายความดังที่ ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง บัญญัติห้ามไว้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 10,907 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 9,283 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มิได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ จึงต้องห้ามทำการแต่งฟ้องหรือเรียงคำฟ้องตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 จึงไม่รับคำฟ้อง จำหน่ายคดี คืนค่าขึ้นศาลแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่นายสุเมธ โสภาสุข ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ลงชื่อเป็นผู้เรียงคำฟ้องของโจทก์นั้นเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์มอบอำนาจให้นายสุเมธเป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนต่อจำเลยทั้งสอง นายสุเมธในฐานะตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำกิจการที่ตัวการมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 ได้มีบทวิเคราะห์ศัพท์คำว่าคู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล และเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้นๆ ตามกฎหมายหรือในฐานะทนายความ ดังนั้น นายสุเมธในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดีแทน ย่อมอยู่ในฐานะคู่ความมีอำนาจยื่นฟ้องต่อศาลได้และชอบที่จะเรียงหรือแต่งคำฟ้องรวมทั้งลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องแทนโจทก์ได้ด้วย และเมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งคำฟ้อง แต่ก็บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า การเรียงหรือแต่งฟ้องนั้นไม่ห้ามไปถึงบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น นายสุเมธซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์แม้มิได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคสอง และการเรียงหรือแต่งคำฟ้องแทนโจทก์ก็มิใช่การว่าความอย่างทนายความดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคสอง บัญญัติห้ามไว้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณานั้น ไม่ต้องความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องของโจทก์ ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ