คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8368/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยนอกจากจะให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์หลอกลวงให้จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้กรอกข้อความ จำเลยยังได้ให้การอีกว่า ในขณะที่จำเลยกระทำการดังกล่าว จำเลยไม่สามารถรู้สึกผิดชอบอย่างบุคคลทั่วไป การแสดงเจตนาของจำเลยเป็นไปโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นว่า จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและลงลายมือชื่อในเอกสารท้ายฟ้องรวมทั้งหนังสือมอบอำนาจให้โอนที่ดินพิพาทโดยถูกโจทก์หลอกลวงอันเป็นเหตุให้นิติกรรมซื้อขายเป็นโมฆะหรือไม่ แต่ก็ได้วินิจฉัยว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตทางอารมณ์และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เป็นผู้มีจิตไม่สมประกอบจนศาลมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ โจทก์หลอกลวงจำเลยในขณะที่จำเลยมีสติสัมปชัญญะไม่สมประกอบ ให้ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท และลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับหนังสือมอบอำนาจโดยจำเลยไม่มีเจตนาที่จะขายที่ดินให้แก่โจทก์ นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะ กรณีถือได้ว่าข้อที่ว่า ในขณะที่จำเลยกระทำการดังกล่าวจำเลยมีสติสัมปชัญญะหรือรู้สำนึกผิดชอบหรือไม่ เป็นประเด็นแห่งคดีรวมอยู่ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ด้วย ทั้งโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่กำหนดไว้แต่อย่างใด คงอุทธรณ์โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ได้หลอกลวงจำเลยและจำเลยมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ อันถือเป็นการยอมรับว่าประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นประเด็นในคดี ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขประเด็นเป็นว่า ขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารตามฟ้อง จำเลยสามารถรู้สำนึกผิดชอบอย่างบุคคลทั่วไปหรือไม่ จึงยังคงอยู่ในประเด็นแห่งคดี และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวก็หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
โจทก์รู้ดีว่าจำเลยป่วยมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ แม้อาการป่วยของจำเลยจะไม่ถึงขนาดไม่สามารถรู้สำนึกผิดชอบอันเป็นการขาดเจตนาในการทำนิติกรรมก็ตาม แต่เมื่อจำเลยกระทำในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์และโจทก์รู้อยู่แล้ว สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่จำเลยกระทำไปก็ตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ.มาตรา 32 (เดิม) จำเลยมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวตาม ป.พ.พ.มาตรา 137 (เดิม) เมื่อจำเลยได้บอกล้างภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 143 (เดิม) แล้ว สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 วรรคหนึ่ง (เดิม)

Share