คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 230/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยโอนเงินทางธนาคารเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคาร โจทก์เองก็ยอมรับว่าจำเลยได้โอนเงิน เข้าบัญชีโจทก์จริง จึงเป็นการชำระหนี้อย่างอื่น ซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ได้ยอมรับแล้ว ย่อมทำให้หนี้กู้ยืม รายพิพาทระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่เป็นการนำสืบการใช้เงิน โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืม มาแสดงซึ่งต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์300,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีเมื่อครบกำหนดชำระเงินคืน จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 473,625 บาท กับชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2535 แต่ได้รับเงินเพียง 250,000 บาทต่อมาโจทก์อ้างว่าสัญญากู้ยืมเงินหาย ให้จำเลยลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินที่ไม่ได้กรอกข้อความอีกฉบับหนึ่ง แล้วโจทก์นำไปกรอกข้อความเป็นว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เมื่อวันที่1 ธันวาคม 2536 จำนวน 500,000 บาท ซึ่งไม่เป็นความจริงต่อมาจำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่กู้โจทก์ครบถ้วนแล้วโดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2535 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539)ให้ไม่เกิน 173,625 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2535 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 300,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 1 เมษายน 2536 ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาจำเลยโอนเงินทางธนาคารเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาลาดพร้าว เลขที่ 1293122824 ของโจทก์ ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายใบนำฝากเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3และสำเนาภาพถ่ายการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย ล.1ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยชำระหนี้เงินกู้รายพิพาทครบถ้วนให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ พยานจำเลยมีตัวจำเลยจ่าสิบตำรวจบัญชา ธงชัย สามีจำเลย นางสาวอรพิน ศิริและนางสาวทวนทอง ศิริ น้องสาวจำเลยเบิกความสอดคล้องต้องกันว่าจำเลยและสามีมีอาชีพขายเสื้อผ้าที่ตลาดสำเพ็ง โดยมีนางสาวอรพินและนางสาวทวนทองช่วยทำงานก่อนทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับพิพาทจำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์มาก่อนแล้ว แต่ยังค้างชำระหนี้เป็นเงิน 250,000 บาท โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.1 ไว้ โดยบอกว่าเงินอีก 50,000 บาทจะนำมาให้ภายหลัง แต่ในที่สุดโจทก์ก็ไม่ได้นำมาให้โดยบอกว่าเป็นส่วนของดอกเบี้ยที่จำเลยยังไม่ได้ชำระให้นำมารวมเป็นต้นเงินจำนวน 300,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งต่อมาจำเลยได้ชำระเงินกู้ดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์โดยวิธีโอนเงินทางธนาคารเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าว เป็นเงิน 396,320 บาทโดยให้นางสาวอรพินและนางสาวทวนทองน้องสาวจำเลยเป็นผู้ไปดำเนินการโอน จำเลยไม่เคยแลกหรือรับแลกเช็คกับโจทก์ไม่เคยรับสร้อยคอทองคำจากโจทก์ไปขาย ส่วนโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2535 จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 300,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระคืนวันที่ 1 เมษายน 2536ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 จำเลยไม่เคยชำระเงินกู้ยืมดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์เลย แต่จำเลยเคยโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าว จำนวนเงินประมาณ 100,000 บาทเศษ เพื่อชำระหนี้ค่าสร้อยคอทองคำที่จำเลยซื้อไปจากนางบุญชุบ แสงจันทร์ น้าสาวของโจทก์และจำเลยได้โอนเงินดอกเบี้ยซึ่งเป็นผลประโยชน์จากการนำเงินของโจทก์ไปรับแลกเช็คเข้าบัญชีของโจทก์ดังกล่าวด้วยเห็นว่า การที่จำเลยโอนเงินทางธนาคารเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าวซึ่งโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่าจำเลยได้โอนเงินเข้าบัญชีโจทก์จริงจึงเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ได้ยอมรับแล้ว กรณีมิใช่เป็นการนำสืบการใช้เงินโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้ยืมมาแสดงซึ่งต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสองส่วนที่โจทก์นำสืบอ้างว่าจำเลยชำระหนี้รายอื่น ไม่เกี่ยวกับหนี้รายพิพาทและมีจำนวนเพียง 100,000 บาทเศษ โดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นชัดแจ้งว่า หนี้รายอื่นนั้นเป็นหนี้รายใดถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่อย่างไร โจทก์กล่าวอ้างลอย ๆแต่เพียงว่าเป็นการชำระหนี้ค่าสร้อยคอทองคำของนางบุญชุบน้าสาวของโจทก์ และเป็นการชำระดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยเอาเงินของโจทก์ไปรับแลกเปลี่ยนเช็ค โดยโจทก์มิได้นำพยานอื่นมาสืบให้เห็นปรากฏตามข้ออ้างดังกล่าว ทั้งจำเลยก็นำสำเนาภาพถ่ายใบนำฝากเอกสารหมาย ล.2 ล.3 และสำเนาภาพถ่ายการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย ล.1 แสดงยอดเงินที่โอนเข้าบัญชีของโจทก์จำนวน 396,320 บาท และเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าหลังจากที่ชำระเงินให้โจทก์แล้วได้เรียกสัญญากู้ยืมเงินคืน แต่โจทก์บอกว่าฉีกทิ้งไปหมดแล้วเมื่อพิจารณาหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 แล้วปรากฏว่ามีรอยฉีกขาดข้อความตอนกลางทางซ้ายของสัญญากู้หลุดหายไปและช่วงรอยพับของสัญญากู้ก็มีลักษณะฉีกขาดออกจากกันแล้วถึง 2 ช่วงรอยพับ แต่ได้มีการนำเทปกาวใสมาปะติดด้านหลังไว้ และข้อความตอนท้ายใต้ชื่อผู้กู้ก็ถูกฉีกขาดออกไป อันมีลักษณะพิรุธ โจทก์นำสืบแต่เพียงว่าสัญญากู้ฉบับดังกล่าวพับเก็บไว้ในซองนาน โดยมิได้เบิกความว่าเพราะเหตุใดสัญญากู้จึงมีสภาพชำรุดฉีกขาดเช่นนั้น ข้อนำสืบของโจทก์จึงยังฟังไม่ได้ตามฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยมีเหตุผลและน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยได้โอนเงินทางธนาคารเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้รายพิพาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จนครบถ้วนแล้ว และโจทก์ได้ยอมรับชำระหนี้แล้วจึงได้ฉีกสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ได้รับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ย่อมทำให้หนี้กู้ยืมรายพิพาทระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 321 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้รายพิพาทแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share