คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1893/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ปรับ 1,000 บาทโทษจำคุกรอไว้ 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก1 ปี จำเลยฎีกาว่าคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหาย เป็นปัญหาข้อเท็จจริง คดีจึงต้องห้าม ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2517 มาตรา 6 วันเกิดเหตุเวลา 11 นาฬิกา ผู้เสียหายไปที่บ้านจำเลยเพื่อ ปรับความเข้าใจกับจำเลยถึง เรื่องที่ผู้เสียหายถูก หาว่าเป็นชู้ กับภริยาจำเลยระหว่างที่จำเลยไปทำงานต่างประเทศประมาณ 10 นาที ก็กลับไป เวลา 15 นาฬิกา วันเดียวกันผู้เสียหายเมาสุรากลับมา ที่บ้านจำเลยเคาะประตูเรียกภรรยาจำเลยอ้างว่า ลืมหมูไว้ จำเลย เปิดประตูออกมาบอกว่าหมูไม่มีและไม่ยอมให้ผู้เสียหายเข้าไปในบ้าน ผู้เสียหายจึงได้ ชกเตะ ต่อย จำเลยแล้วเกิดการต่อสู้ กัน ผู้เสียหาย ใช้ ขวดสุราตี และถีบ จำเลยล้มลง จำเลยวิ่งเข้าไปเอามีดในครัว มาแทงผู้เสียหาย ดังนี้ ขณะที่จำเลยใช้ มีดแทงไม่ปรากฏว่าผู้เสียหาย ได้ ก่อภัยอันใด ขึ้นที่จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัว การที่จำเลย ใช้มีดแทงผู้เสียหายจึงไม่เป็นการป้องกันโดย ชอบด้วย กฎหมาย การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์แก้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยฐาน ทำร้าย ร่างกายและรอการลงโทษไว้เป็นลงโทษจำเลย ฐาน พยายาม ฆ่า ผู้อื่นตาม ที่โจทก์ฟ้อง เท่ากับเป็นการอุทธรณ์ขอให้ เพิ่มโทษและคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้รอการลงโทษไปในตัว เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะใช้ ดุลพินิจ กำหนดโทษตาม ที่เห็นสมควรได้การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษ จึงหาได้ ฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.อ.มาตรา 192 ประกอบด้วย มาตรา 215 ไม่ การจะเป็นอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297(8) หรือไม่ต้อง พิจารณาจากผลของการทำร้ายว่าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำต้องทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วย อาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตาม ปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันหรือไม่ มิใช่ต้อง พิจารณาเฉพาะ จากบาดแผลที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนภายนอก เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเจ็บที่ท้องจนประกอบกรณียกิจ ตาม ปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ย่อมถือ ว่าผู้เสียหายได้ รับอันตรายสาหัสแล้ว แม้เป็นคดีที่ฎีกาได้ เฉพาะ ปัญหาข้อกฎหมาย แต่ ศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ เหตุที่เกิดขึ้นเพราะผู้เสียหายเป็นฝ่ายรุกรานก้าวร้าวก่อเหตุขึ้นก่อนส่วนจำเลยซึ่ง ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อนถูก ขังในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นถึง 1 เดือน เศษ เพียงพอที่จะทำให้รู้สึกตัวกลัวผิดแล้ว ทั้งผู้เสียหายก็ไม่ประสงค์จะเอาเรื่องกับจำเลย กรณีจึงสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้มีดแทงเจตนาฆ่าผู้เสียหาย จำเลยได้ลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำของจำเลยไม่บรรลุผล เพราะผู้เสียหายได้รับการรักษาจากแพทย์ทันท่วงที ผู้เสียหายจึงเพียงแต่ได้รับอันตรายสาหัส เจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนา และประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยแทงผู้เสียหายเพราะบันดาลโทสะแต่ไม่มีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหาย และฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบด้วยมาตรา 72จำคุก 6 เดือน ปรับ 1,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และจำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี ให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56เป็นเวลา 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายเพราะบันดาลโทสะ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) ประกอบด้วยมาตรา 72 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกรอไว้ 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำคุก 1 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2517 มาตรา 6ที่จำเลยฎีกาว่าคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหายซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายที่กล่าวมาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมาย
จำเลยฎีกาเป็นข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันมาว่า เมื่อเวลา 11 นาฬิกา วันเกิดเหตุผู้เสียหายไปที่บ้านจำเลยเพื่อปรับความเข้าใจกับจำเลยถึงเรื่องที่ผู้เสียหายถูกหาว่าเป็นชู้กับภรรยาจำเลยระหว่างที่จำเลยไปทำงานต่างประเทศประมาณ 10 นาที ก็กลับไป เวลา 15 นาฬิกาวันเดียวกัน ผู้เสียหายเมาสุรากลับมาที่บ้านจำเลยเคาะประตูเรียกภรรยาจำเลยอ้างว่าลืมหมูไว้ จำเลยเปิดประตูออกมาบอกว่าหมูไม่มีและไม่ยอมให้ผู้เสียหายเข้าไปในบ้าน ผู้เสียหายจึงได้ชกเตะต่อยจำเลยแล้วเกิดการต่อสู้กัน ผู้เสียหายใช้ขวดสุราตีและถีบจำเลยล้มลงจำเลยวิ่งเข้าไปเอามีดในครัวมาแทงผู้เสียหาย ดังนี้ เห็นได้ว่าขณะที่จำเลยใช้มีดแทงไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้ก่อภัยอันใดขึ้นที่จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายจึงไม่เป็นการป้องกันตัวดังที่จำเลยฎีกา
จำเลยฎีกาเป็นข้อที่สองว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้รอการลงโทษจำเลยไว้ ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่รอการลงโทษจำเลย จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 ประกอบด้วยมาตรา 215 พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้เท่ากับอุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษและคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้รอการลงโทษไปในตัว เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด ก็ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะใช้ดุลพินิจกำหนดโทษตามที่เห็นสมควรได้ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษให้จำเลยจึงหาได้ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังที่จำเลยฎีกาไม่
จำเลยฎีกาเป็นข้อที่สามว่า อันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(8) ต้องพิจารณาจากบาดแผลที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนเท่านั้นเมื่อบาดแผลภายนอกของผู้เสียหายได้หายภายใน 2 อาทิตย์ ผู้เสียหายจึงไม่ได้รับอันตรายสาหัสพิเคราะห์แล้วเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 ได้บัญญัติถึงอันตรายสาหัสตาม (8) ว่า “ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน” ซึ่งเห็นได้ว่าการจะเป็นอันตรายสาหัสตามมาตรา 297(8) หรือไม่ ต้องพิจารณาจากผลของการทำร้ายว่าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำต้องทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันหรือไม่ มิใช่ต้องพิจารณาเฉพาะจากบาดแผลที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนดังที่จำเลยฎีกา เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเจ็บที่ท้องจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ผู้เสียหายย่อมได้รับอันตรายสาหัสแล้ว
จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายขอให้รอการลงโทษ หากการกระทำของจำเลยเป็นความผิดนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้คดีนี้จะฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ ซึ่งศาลฎีกาพิเคราะห์พฤติการณ์ในคดีแล้วเห็นว่า ที่เกิดเหตุในคดีนี้ก็เพราะผู้เสียหายเป็นฝ่ายรุกรานก้าวร้าวก่อเหตุขึ้นก่อน ส่วนจำเลยซึ่งไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อนก็ถูกขังในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นมาแล้วถึง 1 เดือนเศษเพียงพอที่จะทำให้รู้สึกตัวกลัวผิดแล้วทั้งคดีได้ความว่าผู้เสียหายไม่ประสงค์จะเอาเรื่องกับจำเลย กรณีจึงสมควรรอการลงโทษจำคุกไว้เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share