คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3057/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แพทย์ประจำตำบลและครูประชาบาลมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วการที่นายอำเภอซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชามีคำสั่งแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติงานตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยให้ประชาชนในชนบทมีงานทำในฤดูแล้งพ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นการปฏิบัติราชการของอำเภอเช่นนี้ ถือได้ว่าแพทย์ประจำตำบลและครูประชาบาลปฏิบัติงานในฐานะเป็นเจ้าพนักงาน
ราษฎรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาตำบลเมื่อไม่มีกฎหมายระบุให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แม้นายอำเภอมีคำสั่งแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติราชการของอำเภอและราษฎรผู้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาตำบลได้ปฏิบัติงานดังกล่าวแล้ว ก็หาทำให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานโดยเป็นคณะกรรมการสภาตำบล มีหน้าที่ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้ง พ.ศ. 2518 ซึ่งรวมทั้งจ้างแรงงาน เบิกและจ่ายเงินตามโครงการ จำเลยทั้งหกได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตได้ร่วมกันปลอมเอกสารราชการว่าได้จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้มีชื่อแล้ว และได้เบิกเงินของทางราชการไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเป็นเงิน 327,180 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157, 161, 162, 264, 265, 268, 83 และให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่รัฐบาล

จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 จำคุกคนละ 6 ปี และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้เงินจำนวน 124,180 บาท ให้แก่รัฐบาล ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ประกอบด้วยมาตรา 86 จำคุกคนละ 4 ปี ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้เงิน 101,430 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทุกคนตามฟ้อง

จำเลยที่ 2 และที่ 6 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งหกได้ร่วมกันเบิกเงินเกินไปกว่าที่จ่ายจริง 101,430 บาท ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ประจำตำบล จำเลยที่ 6 เป็นครูประชาบาล ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้ว การที่นายอำเภอมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 และที่ 6ไปปฏิบัติงานตามโครงการพัฒนาท้องถิ่น จึงเป็นการปฏิบัติราชการของอำเภอเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 6 ปฏิบัติงานในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย

ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาตำบลเท่านั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 326 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 มิได้ระบุให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนตำบล พ.ศ. 2499 (ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว) ฉะนั้นแม้นายอำเภอมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยไปปฏิบัติราชการของอำเภอและจำเลยได้ปฏิบัติงานดังกล่าวแล้ว ก็หาทำให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายไม่

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 6 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share