แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือสัญญามีข้อความว่า “อำแดงยิ้มยายผู้รักษาทรัพย์สมบัติของจีนตืออากรบุตรเขยอำแดงเป้อบุตรสาวได้ทำหนังสือบริคนห์สัญญาแบ่งทรัพย์สมบัติของจีนอากรตือบุตรเขยอำแดงเป้อบุตรสาวให้แก่จีนกิมฮะจีนกิมติดอำแดงหลีอำแดงแดงจีนกิมฮกจีนกิมจูอำแดงเปียกหลาน ๆ ได้เห็นชอบและยินยอมพร้อมใจกันตามที่อำแดงยิ้มยายได้แบ่งปันทรัพย์นั้นจึงให้ถ้อยคำทำหนังสือบริคนห์สัญญาไว้ต่อกันมีข้อความดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ
ข้อ 1. เดิมจีนตืออากรอำแดงเป้อได้อยู่กินเป็นสามีภริยาได้ประกอบการทำมาหากินด้วยกัน มีทรัพย์สมบัติหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งเป็นสวิญญาณกะทรัพย์อวิญญาณกะทรัพย์ครั้นมาณวันแรม 12 ค่ำ เดือน 1 ค่ำปีกุนเอกศกอำแดงเป้อตายณวันที่ขึ้น2ค่ำเดือน4เอกศกจีนตืออากรตาย บันดาทรัพย์สมบัติของจีนตืออากรและของอำแดงเป้อนั้นอำแดงยิ้มได้เป็นผู้เก็บรักษาไว้ทั้งสิ้น บัดนี้ อำแดงยิ้มจะได้เอาทรัพย์ที่เก็บรักษาไว้นั้นออกแจกปันให้แก่บุตรจีนตืออากรอำแดงเป้อซึ่งเป็นหลานอำแดงยิ้มเป็นส่วนส่วนดังนี้
ข้อ 2. คือแบ่งปันให้จีนกิมฮะเงินตราสี่ร้อยสี่สิบชั่งจีนกิมติดเงินตราสี่ร้อยสี่สิบชั่ง อำแดงหลีเงินตราห้าร้อยชั่งอำแดงแดงเงินตราห้าร้อยชั่งจีนกิมฮกเงินตราห้าร้อยชั่งจีนกิมจูเงินตราห้าร้อยชั่งอำแดงเปียกเงินตราห้าร้อยชั่งรวมเป็นเงินที่ได้แบ่งปันนี้เป็นเงินตราสามพันสามร้อยแปดสิบชั่ง
ข้อ 3. บันดาทรัพย์สมบัติของจีนตืออากรอำแดงเป้อ นอกจากเงินตราสามพันสามร้อยแปดสิบชั่งซึ่งได้แบ่งปันนี้ ยังมีอยู่คือ บ้านเรือนสวน นา สิ่งของ ทองรูปพรรณสารกรมธรรมทาษลูกหนี้สวิญญาณกะทรัพย์ อวิญญาณกะทรัพย์อำแดงยิ้มได้แบ่งปันให้กับอำแดงหลีบุตรจีนตืออากรอำแดงเป้อทั้งสิ้นแต่ส่วนทองคำเนื้อแปดให้แบ่งปันกันแก่อำแดงแดงหนักแปดสิบแปดบาทอำแดงเปียกหนักแปดสิบแปดบาทกับเงินตราสามพันสามร้อยแปดสิบชั่งซึ่งจะได้แบ่งปันกันนั้นอำแดงยิ้มยายมอบให้อำแดงหลีหลานเป็นผู้เก็บรักษาไว้สืบไป
ข้อ 4. จีนกิมฮะจีนกิมติดอำแดงหลีอำแดงแดงจีนกิมฮกจีนกิมจู อำแดงเปียกซึ่งเป็นผู้จะได้รับหุ้นส่วนนั้นได้เห็นชอบยินยอมตามที่อำแดงยิ้มยายแบ่งปันตั้งแต่วันทำหนังสือบริคนห์สัญญาฉบับนี้แล้วผู้ซึ่งจะได้รับหุ้นส่วนนั้นเมื่อได้รับเงินตราวันใด ให้ทำหนังสือสำคัญซึ่งเป็นหลักถานให้แก่อำแดงหลีซึ่งเป็นผู้รักษาทรัพย์
ข้อ 5. ตั้งแต่วันที่ได้ทำหนังสือบริคนห์สัญญาแบ่งปันฉบับนี้ อำแดงยิ้มยายผู้แบ่งปันจีนกิมฮะจีนกิมติดอำแดงหลีอำแดงแดงจีนกิมฮก จีนกิมจูอำแดงเปียกต้องนับถือหนังสือสัญญาฉบับนี้เป็นหลักถานถ้าผู้ใดกระทำผิดข้อสัญญาฉบับนี้ก็ให้ฟ้องร้องยังโรงศาลให้พิจารณาตามบริคนห์สัญญาฉบับนี้เทอญ ข้าพเจ้าจดหมายลงชื่อไว้เป็นสำคัญ”
หนังสือสัญญาฉบับนี้เป็นเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ต.และป. ผู้วายชนม์ให้แก่บุตรซึ่งเป็นทายาท ไม่ใช่การจัดตั้งกองทรัพย์รวมหรือกงสี
คำว่า “ผู้จะได้รับหุ้นส่วน” หมายถึง”ผู้จะได้รับส่วนแบ่ง” นั่นเองกรณีหาใช่ผู้เป็นหุ้นส่วนนำเงินมาเข้าหุ้นกันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไร อันจะพึงได้แก่กิจการที่ทำนั้นไม่
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน
สำนวนแรก นางแคทริน บุบผาบุรี ยื่นคำร้องว่านางสาวแดง แต้สุจิได้วายชนม์ด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2505 นางสาวแดงมีทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์หมาย 2 ท้ายคำร้อง นางสาวแดงได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมด ให้แก่หลวงภาษาพิรัชน้องชายกับบุตรของหลวงภาษาพิรัชอีก 2 คน คือผู้ร้อง และนางสาวเฮเลน อนงค์ แต้สุจิ ผู้ตายไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้จึงขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก
นายชำนาญ แต้สุจิ ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของนายกิมฮะซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว นายกิมฮะเป็นพี่ชายนางสาวแดง โดยร่วมบิดามารดาเดียวกันคือนายอากรตือ แต้สุจิและนางเป๋อ แต้สุจิ นายอากรตือและนางเป๋อถึงแก่กรรมไปแล้ว นางสาวแดงไม่มีบุตรและไม่มีทายาทอื่นใดเหนือนายกิมฮะเมื่อนายกิมฮะถึงแก่กรรมไปแล้ว ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทโดยธรรมของนางสาวแดงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกรายนี้ พินัยกรรมที่ผู้ร้องแสดงต่อศาลนางสาวแดงได้ยกเลิกเพิกถอนเสียแล้ว โดยทำพินัยกรรมใหม่ขึ้นอีกฉบับหนึ่งระบุยกทรัพย์ให้ผู้คัดค้านกับพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้คัดค้านอีกหลายคน จึงขอให้ศาลสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง และแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียว
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของนายกิมฮะ แต้สุจิและนางบุญเกิด แต้สุจิ ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วทั้งสองคน จำเลยที่ 1 เป็นน้องนายกิมฮะ แต้สุจิ จำเลยที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และที่ 4เป็นบุตรจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 เป็นบุตรจำเลยที่ 3 เดิมเมื่อประมาณ90 ปีเศษมาแล้ว นายจีนตือ แซ่แต้ กับนาง (อำแดง) เป๋อ ได้อยู่กินเป็นสามีภริยากันและประกอบอาชีพผูกขาดภาษีแผ่นดินในสมัยนั้น นายจีนตือหรือนายอากรตือได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนพิพัฒภาปรียาฝิ่น มีบุตรธิดาด้วยกัน 8 คนตามบัญชีเครือญาติท้ายฟ้องหมายเลข 1 นางเป๋อถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม2442 ต่อมานายอากรตือถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2442 (สมัยนั้นขึ้นต้นปีใหม่ในเดือนเมษายน) ทั้งนางเป๋อและนายอากรตือไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้นางยิ้มซึ่งเป็นมารดาของนางเป๋อเป็นผู้ปกครองบุตรและทรัพย์สินของนายอากรตือและนางเป๋อ ต่อมา ครั้นวันที่ 16 พฤษภาคม ร.ศ.120 (พ.ศ. 2444) นางยิ้มได้จัดกำหนดส่วนแบ่งทรัพย์สินของนายอากรตือและนางเป๋อเฉพาะที่เป็นตัวเงินโดยได้ทำเป็นหนังสือเรียกว่า บริคณห์สัญญา ณ ที่ว่าการอำเภอในเมือง แขวงเมืองนครเขื่อนขันธ์ในขณะนั้น เป็นการกำหนดส่วนได้ของบุตรนายอากรตือนางเป๋อแต่ละคนไว้เสมือนกับการเข้าหุ้นส่วนกันระหว่างพี่น้องคือ นายกิมฮะขณะนั้นอายุ 25 ปีได้ 440 ชั่ง นายกิมติ๊ดขณะนั้นอายุ 24 ปีได้ 440 ชั่ง นางสาวหลีขณะนั้นอายุ 18 ปีได้ 500 ชั่ง นางสางแดงขณะนั้นอายุ 16 ปีได้ 500 ชั่งเด็กชายกิมฮกขณะนั้นอายุ 13 ปีได้ 500 ชั่ง เด็กชายกิมโป้หรือกิมจู(หลวงภาษาพิรัชจำเลยที่ 1) ขณะนั้นอายุ 10 ปีได้ 500 ชั่ง เด็กหญิงเปียกหรือพุ่ม ขณะนั้นอายุ 7 ปี ได้ 500 ชั่ง ส่วนนางสาวม้ายหรือละม้ายบุตรคนที่ 3ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว พี่น้องทุกคนตกลงยินยอมให้นางสาวหลีเป็นผู้เก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินที่รวมกันอยู่เป็นกงสีนี้สืบไป จนกว่าผู้ใดได้รับส่วนแบ่งของตนไปแล้วก็ให้ทำหนังสือหลักฐานให้ไว้แก่นางสาวหลี ปรากฏตามสำเนาหนังสือบริคณห์สัญญาท้ายฟ้องหมายเลข 2 กองทรัพย์รวมหรือกงสีดังกล่าวครั้งแรกนางสาวหลีเป็นผู้จัดการ ต่อมานางสาวแดงและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ได้ร่วมจัดการด้วย กิจการส่วนใหญ่เป็นการรับจำนอง รับจำนำ ให้เช่า ให้กู้ยืมรับขายฝากและซื้อที่ดิน ที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของกองทรัพย์รวมหรือกงสีดังกล่าวได้ใส่ชื่อนางหลี นางสาวแดงและจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 8 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนด ปรากฏตามบัญชีท้ายฟ้องรวมราคา 217,074,267 บาท50 สตางค์ ผู้ที่ถือหุ้นในกองทรัพย์รวมหรือกงสีดังกล่าวถึงแก่กรรมไปแล้ว5 คนคือนางสาวเปี๊ยกหรือพุ่ม นายกิมฮก นางหลี นายกิมฮะและนางสาวแดงโดยผู้ตายทุกคนมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งห้าคนยังคงรวมอยู่ในกองทรัพย์สินหรือกงสีดังกล่าว ผู้มีสิทธิได้ส่วนแบ่งคือโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของนายกิมฮะ แต้สุจิและจำเลยที่ 1 คนละส่วนเท่ากันคิดเป็นเงิน108,537,133 บาท 75 สตางค์ โจทก์ได้ขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แบ่งส่วนได้ของโจทก์ดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งหมดชำระเงินส่วนได้ของโจทก์เป็นจำนวน 108,537,133 บาท 75 สตางค์ แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ ถ้าจำเลยไม่ชำระก็ให้จำเลยส่งทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องทั้งหมดและขอให้ศาลสั่งขายทอดตลาดแบ่งเงินให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง ทรัพย์ใดถ้าส่งไม่ได้ด้วยประการใด ๆ ก็ขอให้ถือราคาตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง
จำเลยทั้งแปดให้การร่วมกันว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จะเป็นบุตรของนายกิมฮะ แต้สุจิหรือไม่ จำเลยไม่รับรอง นางเป๋อถึงแก่กรรมก่อนแล้วนายอากรตือก็ถึงแก่กรรมในปีเดียวกัน นางยิ้มมารดานางเป๋อเป็นผู้ปกครองและดูแลทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่บุตรนายอากรตือเฉพาะผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเท่านั้น โดยมีนางสาวหลีช่วยดูแลรักษาไว้ในสภาพกองมรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันมิใช่เป็นกองทรัพย์รวมหรือกงสีดังที่โจทก์อ้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2444 (ร.ศ.120)นางยิ้มได้จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่บุตรทั้งเจ็ดคนของนายอากรตือและนางเป๋อตามสำเนาหนังสือท้ายฟ้องทั้งนี้เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกรายนี้ให้แก่ทายาททุกคนเป็นการเสร็จสิ้น ไม่รวมอยู่เป็นกองมรดกต่อไป สำหรับนายกิมฮะบิดาโจทก์และนายกิมติ๊ดต่างได้รับส่วนแบ่งของตนไปครบถ้วนแล้วโดยได้ทำหลักฐานการรับเงินไว้ ส่วนพี่น้องคนอื่น ๆ ก็ได้รับส่วนแบ่งปันไปหมดแล้วทุกคนไม่มีกองทรัพย์สินหรือกงสีดังที่โจทก์อ้าง การที่นางหลี นางสาวแดงและจำเลยทั้งแปดมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องนั้น เป็นการถือกรรมสิทธิ์ของผู้มีชื่อแต่ละคนซึ่งได้รับโอนมาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นการถือกรรมสิทธิ์ของตนเอง มิใช่ในนามของกองทรัพย์สินรวมหรือกงสีดังโจทก์อ้าง โจทก์ตีราคาทรัพย์ตามฟ้องสูงเกินกว่าความจริงมากมายทรัพย์สินที่มีชื่อนางสาวแดงนั้น นางสาวแดงได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวตลอดมาเกินกว่า 10 ปี ไม่ใช่เป็นของกองทรัพย์รวมหรือกงสี นางสาวแดงถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2505 ก่อนตายได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2498 ยกทรัพย์ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1ที่ 3 และที่ 4 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เพราะจำเลยทั้งเจ็ดคนนี้ไม่ได้รับส่วนแบ่งจากกองมรดกของนายอากรตือและนางเป๋อ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยไม่ระบุให้ชัดว่าโจทก์มีสิทธิในกองมรดกแต่ละคนเป็นส่วนสัดเท่าใด และคดีขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
นายอินเดียหรือเดียร์ แต้สุจิยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมโดยอ้างว่าเป็นบุตรคนที่ 5 ของนายกิมฮะ นางบุญเกิด แต้สุจิ ผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ในบรรดากองทรัพย์รวมรายการพิพาทร่วมกับโจทก์จำเลย และขอให้ถือเอาคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องของผู้ร้องสอดด้วย โจทก์จำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต
ระหว่างพิจารณา นางสาวเฮเลน อนงค์ แต้สุจิจำเลยที่ 4 ถึงแก่กรรมศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางแคทริน บุบผา บุรี จำเลยที่ 3 กับนายเสนาะ นิลกำแหงเข้าเป็นคู่ความแทน ต่อมาหลวงภาษาพิรัชจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางแคทรินบุบผา บุรีจำเลยที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า หนังสือบริคณห์สัญญาตามเอกสารหมาย ล.43 มีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาแบ่งทรัพย์มรดก หาใช่เป็นสัญญาเข้าหุ้นส่วนหรือกงสีไม่ นายกิมฮะบิดาโจทก์ได้รับส่วนแบ่งมรดกตามหนังสือสัญญาดังกล่าวไปแล้ว พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า นายกิมฮะและพี่น้องฝ่ายโจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ในทรัพย์พิพาท และคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคแรกแล้วเรื่องตั้งผู้จัดการมรดกของนางสาวแดงนั้น ศาลชั้นต้นฟังว่านางสาวแดงวายชนม์ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 (ผู้ร้อง) และจำเลยที่ 4 เห็นควรตั้งนางแคทริน บุบผา บุรี ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวแดง ผู้วายชนม์พิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วม และสั่งแต่งตั้งให้นางแคทริน บุบผา บุรีเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวแดงได้ตามคำร้องขอ ให้ยกคำร้องคัดค้านของนายชำนาญ แต้สุจิ
โจทก์ที่ 1 ที่ 3 โจทก์ร่วมและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ในระหว่างอุทธรณ์ นางอานาอี ภาษาพิรัช จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมศาลอุทธรณ์อนุญาตให้นางแคทริน จำเลยที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ที่ 1 ที่ 3 โจทก์ร่วมและผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายตือ แซ่แต้เป็นคนจีนได้รับการผูกขาดภาษีอากรจากรัฐบาลเมื่อประมาณ 100 ปีมานี้ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่านายอากรตือหรือจีนตืออากร ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนพิพัฒภาปรียาฝิ่น มีภริยาชื่อนางเป๋อหรืออำแดงเป๋อ นางเป๋อถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ร.ศ.118 (พ.ศ. 2442) ต่อมานายตือหรือจีนตือได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ปีเดียวกัน (ขณะนั้นขึ้นปีใหม่เดือนเมษายน)ขณะที่ถึงแก่กรรมมีบุตรซึ่งมีชีวิตอยู่ในขณะนั้น 7 คนตามลำดับคือ1. นายกิมฮะ (บิดาโจทก์และโจทก์ร่วม) 2. นายกิมติ๊ด 3. นางหลี แต้สุจิ4. นางสาวแดง แต้สุจิ 5. นายกิมฮก 6. นายกิมจู (หลวงภาษาพิรัชจำเลยที่ 1)7. นางสาวเปี๊ยกนางเป๋อและนายตือไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ นางยิ้มแม่ยายของนายตือเป็นผู้ปกครองทรัพย์มรดกทั้งหมดของนางเป๋อและนายตือ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ร.ศ.120 นางยิ้มได้ทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนายตือนางเป๋อไว้ ณ ที่ทำการอำเภอในเมืองแขวงเมืองนครเขื่อนขันธ์ในขณะนั้น ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.43 นางหลี แต้สุจิถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13กรกฎาคม 2475 นายกิมฮะบิดาโจทก์ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2477 นางสาวแดงแต้สุจิถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2505 โฉนดที่ดินที่โจทก์อ้างว่าเป็นกองทรัพย์รวมหรือกงสีตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องนั้นปรากฏว่าเป็นโฉนดมีชื่อนางหลี แต้สุจิเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ 2 โฉนด มีชื่อนางสาวแดงแต้สุจิเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ 21 โฉนด มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ 19 โฉนด มีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ 1 โฉนด มีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ 20 โฉนดมีชื่อจำเลยที่ 4 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ 144 โฉนด มีชื่อจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน 10 โฉนด มีชื่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน 1 โฉนด มีชื่อจำเลยที่ 5 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ 6 โฉนดมีชื่อจำเลยที่ 6 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ 2 โฉนด มีชื่อจำเลยที่ 7 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ 1 โฉนด และมีชื่อจำเลยที่ 8 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ 1 โฉนด ก่อนถึงแก่กรรมนางหลีแต้สุจิ ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นางสาวแดง แต้สุจิ ส่วนนางสาวแดง แต้สุจิทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4
ในปัญหาที่ว่าสัญญาตามเอกสารหมาย ล.43 ไม่ใช่เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดก แต่เป็นหนังสือจัดตั้งกองทรัพย์รวมหรือกงสี ซึ่งนายกิมฮะบิดาโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมหรือตามภาษาหนังสือบริคณห์สัญญานั้นเรียกว่ามีหุ้นส่วนร่วมกันอยู่กับพี่น้องอีก 6 คน คือนายกิมติ๊ด นางหลี นางสาวแดงนายกิมฮก นายกิมจู (จำเลยที่ 1) และนางสาวเปี๊ยก โดยมีนางหลีเป็นผู้จัดการกองทรัพย์รวมตามสัญญานั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาตามเอกสารหมาย ล.43 มีข้อความว่า “อำแดงยิ้มยายผู้รักษาทรัพย์สมบัติของจีนตืออากรบุตรเขย อำแดงเป้อบุตรสาวได้ทำหนังสือบริคณห์สัญญาแบ่งทรัพย์สมบัติของจีนอากรตือบุตรเขย อำแดงเป้อบุตรสาวให้แก่จีนกิมฮะจีนกิมติด อำแดงหลีอำแดงแดง จีนกิมฮก จีนกิมจู อำแดงเปียก หลาน ๆ ได้เห็นชอบและยินยอมพร้อมใจกันตามที่อำแดงยิ้ม ยายได้แบ่งปันทรัพย์นั้น จึงได้ให้ถ้อยคำทำหนังสือบริคณห์สัญญาไว้ต่อกัน มีข้อความดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ
ข้อ 1. เดิมจีนตืออากร อำแดงเป้อได้อยู่กินเป็นสามีภริยา ได้ประกอบการทำมาหากินด้วยกัน มีทรัพย์สมบัติหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งเป็นสวิญญาณกะทรัพย์อวิญญาณกะทรัพย์ ครั้นอยู่มา ณ วันแรม 12 ค่ำ เดือนหนึ่ง ปีกุน เอกศก อำแดงเป้อตาย ณ วันที่ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน เอกศก จีนตืออากรตาย บันดาทรัพย์สมบัติของจีนตืออากรและของอำแดงเป้อนั้น อำแดงยิ้มได้เป็นผู้เก็บรักษาไว้ทั้งสิ้น บัดนี้ อำแดงยิ้มจะได้เอาทรัพย์ที่เก็บรักษาไว้นั้นออกแจกปันให้แก่บุตรจีนตืออากรอำแดงเป้อซึ่งเป็นหลานอำแดงยิ้มเป็นส่วนส่วนดังนี้
ข้อ 2. คือแบ่งปันให้จีนกิมฮะเงินตราสี่ร้อยสี่สิบชั่ง จีนกิมติดเงินตราสี่ร้อยสี่สิบชั่ง อำแดงหลีเงินตราห้าร้อยชั่ง อำแดงแดงเงินตราห้าร้อยชั่งจีนกิมฮกเงินตราห้าร้อยชั่ง จีนกิมจูเงินตราห้าร้อยชั่ง อำแดงเปียกเงินตราห้าร้อยชั่ง รวมเป็นเงินที่ได้แบ่งปันนี้เป็นเงินตราสามร้อยแปดสิบชั่ง
ข้อ 3. บันดาทรัพย์สมบัติของจีนตืออากร อำแดงเป้อนอกจากเงินตราสามพันสามร้อยแปดสิบชั่งซึ่งได้แบ่งปันนี้ยังมีอยู่คือ บ้านเรือน สวน นา สิ่งของทองรูปพรรณ สารกรมธรรมทาษลูกหนี้ สะวิญญาณกะทรัพย์ อวิญญาณกะทรัพย์อำแดงยิ้มได้แบ่งปันให้กับอำแดงหลีบุตรจีนตืออากรอำแดงเป้อทั้งสิ้น แต่ส่วนทองคำเนื้อแปดให้แบ่งปันกันแก่อำแดงแดงหนักแปดสิบแปดบาท อำแดงเปียกหนักแปดสิบแปดบาทกับเงินตราสามพันสามร้อยแปดสิบชั่ง ซึ่งจะได้แบ่งปันกันนั้น อำแดงยิ้มยายมอบให้อำแดงหลีหลานเป็นผู้เก็บรักษาไว้สืบไป
ข้อ 4. จีนกิมฮะ จีนกิมติด อำแดงหลี อำแดงแดง จีนกิมฮก จีนกิมจูอำแดงเปียกซึ่งเป็นผู้จะได้รับหุ้นส่วนนั้น ได้เห็นชอบยินยอมตามที่อำแดงยิ้มยายแบ่งปันตั้งแต่วันทำหนังสือบริคนห์สัญญาฉบับนี้แล้ว ผู้ซึ่งจะได้รับหุ้นส่วนนั้นเมื่อได้รับเงินตราวันใดให้ทำหนังสือสำคัญซึ่งเป็นหลักถานให้แก่อำแดงหลีซึ่งเป็นผู้รักษาทรัพย์
ข้อ 5. ตั้งแต่วันที่ได้ทำหนังสือบริคนสัญญาแบ่งปันฉบับนี้ อำแดงยิ้มยายผู้แบ่งปัน จีนกิมฮะ จีนกิมติด อำแดงหลี อำแดงแดง จีนกิมฮก จีนกิมจู อำแดงเปียกต้องนับถือหนังสือสัญญาฉบับนี้เป็นหลักถาน ถ้าผู้ใดกระทำผิดข้อสัญญาฉบับนี้ก็ให้ฟ้องร้องยังโรงศาล ให้พิจารณาตามบริคนห์สัญญาฉบับนี้เทอญ ข้าพเจ้าได้จดหมายลงชื่อไว้เป็นสำคัญ”
พิเคราะห์ข้อความตามหนังสือสัญญาฉบับนี้แล้วเห็นว่า ข้อความตั้งแต่เริ่มต้นก็ดี ข้อความตามข้อ 1 จนถึงข้อ 5 ก็ดี ได้ระบุไว้ชัดว่าเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายตือและนางเป๋อผู้วายชนม์ให้แก่บุตรซึ่งเป็นทายาทรวม 7 คนโดยระบุไว้ชัดว่าผู้ใดได้ทรัพย์สิ่งใดบ้างเป็นจำนวนเท่าใด ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุหรือแสดงเจตนาว่าเป็นการจัดตั้งกองทรัพย์รวมหรือกงสีดังโจทก์กล่าวอ้างข้อความในข้อ 4 ที่ใช้คำว่า “ผู้จะได้รับหุ้นส่วน” นั้น เป็นเรื่องของการใช้ภาษาในสมัยก่อนซึ่งหมายถึง “ผู้จะได้รับส่วนแบ่ง” นั่นเอง กรณีหาใช่ผู้เป็นหุ้นส่วนนำเงินมาเข้าหุ้นกันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นไม่ ฉะนั้นเงินตราจำนวนสามพันสามร้อยแปดสิบชั่งซึ่งตามสัญญาข้อ 2 ระบุให้แบ่งปันแก่นายกิมฮะบิดาโจทก์เป็นจำนวนสี่ร้อยสี่สิบชั่งนั้น นายกิมฮะบิดาโจทก์จึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นหุ้นส่วนหรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในจำนวนเงินตราทั้งหมดดังกล่าวแต่ประการใด ตามสัญญาข้อ 3 และข้อ 4นางหลีเป็นเพียงผู้เก็บรักษาเงินตราจำนวนทั้งหมดดังกล่าวไว้เพื่อจะได้จัดแบ่งปันให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งตามสัญญาเท่านั้น นางหลีหาใช่เป็นผู้จัดการกองทรัพย์รวมดังโจทก์กล่าวอ้างไม่
พิพากษายืน