คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4020/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนต้องการให้ผู้คัดค้านที่ 3ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน กู้ยืมเงิน แต่ไม่สามารถทำได้เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 35 จำเลยจึงให้ผู้คัดค้านที่ 1 กู้ยืมเงินเพื่อนไปให้ผู้คัดค้านที่ 3กู้ยืมเงินนั้นต่อด้วยวิธีให้ผู้คัดค้านที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยที่ 1 โดยผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้รับอาวัล และผู้คัดค้านที่ 3 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ผู้คัดค้านที่ 1 โดยจำเลยที่ 1เป็นผู้รับอาวัล ต่อมาก่อนผู้คัดค้านที่ 3 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ได้มีการหักกลบลบหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินกันระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1และผู้คัดค้านทั้งสามย่อมเป็นการหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าว อันเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองประชาชนซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 นิติกรรมการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินไม่มีผลบังคับโดยศาลไม่จำต้องเพิกถอน และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะเรียกเงินกู้คืนจากผู้คัดค้านที่ 3 ได้

ย่อยาว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามเงินทุน จำกัดที่ 1 และนายฟู ฟูคุณฉลองที่ 2 ให้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด ทางการสอบสวนของผู้ร้องปรากฏว่า เมื่อ พ.ศ. 2525 บริษัทเอส.ที.อาร์.ฟาร์ม จำกัดผู้คัดค้านที่ 1 ยืมเงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามเงินทุนจำกัด จำเลยที่ 1 รวม 3 ครั้ง ครั้งละ 5,000,000 บาท โดยผู้คัดค้านที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่จำเลยที่ 1 รวม 3 ฉบับฉบับละ 5,000,000 บาท กำหนดใช้เงินตามตั๋วในเวลา 3 เดือน และมีผู้คัดค้านที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้อาวัล จำนวนเงินดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 1 นำไปให้บริษัทภาวินเครดิต จำกัด ผู้คัดค้านที่ 3 กู้ต่อ แล้วผู้คัดค้านที่ 3 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 รวม 3 ฉบับ ๆ ละ 5,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1ได้ลงชื่อเป็นผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของผู้คัดค้านที่ 3 ไว้ทุกฉบับ เมื่อครบกำหนดการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินได้มีการขยายระยะเวลาออกไปอีก ครั้งละ 3 เดือน และมีการเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินใหม่ด้วยวิธีการเดิม เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระ ผู้คัดค้านที่ 1 มิได้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 3 ฉบับ ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอหักกลบลบหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินของผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้อาวัลไว้ การที่จำเลยที่ 1 ลงชื่ออาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำลงทั้งที่ทราบว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบเพราะทำให้ผู้คัดค้านที่ 1 หลุดพ้นความรับผิดในมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินของตนโดยการหักกลบลบหนี้ ทั้งในช่วงเวลาดังกล่าวสถานะการเงินของจำเลยที่ 1 ขาดสภาพคล่อง ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมกิจการ และในที่สุดได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการเงินทุนหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 กับพวกถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดการที่จำเลยที่ 1 ลงชื่ออาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินไว้นั้น จำเลยที่ 1ได้กระทำลงในขณะมีหนี้สินล้นพ้นตัวและผู้คัดค้านที่ 1 รวมทั้งผู้คัดค้านที่ 2 ผู้อาวัลตั๋วก็ได้รับประโยชน์ต่อหนี้ที่มีอยู่ระงับไป โดยมิได้เสียค่าตอบแทนใด ๆ เป็นการกระทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของผู้คัดค้านที่ 3 ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 113
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการที่จำเลยที่ 1 อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทภาวินเครดิต จำกัด
ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 นำสืบฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กู้เงินจากจำเลยที่ 1 จำนวน15,000,000 บาท ตามคำขอกู้เงินเอกสารหมาย ร.9 ผู้คัดค้านที่ 1ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 3 ฉบับ ฉบับละ 5,000,000 บาท กำหนดชำระภายใน 3 เดือน โดยมีผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย ร.1 ถึง ร.3 ให้จำเลยที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินดังกล่าวไปให้ผู้คัดค้านที่ 3 กู้ ผู้คัดค้านที่ 3 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 3 ฉบับ ฉบับละ5,000,000 บาท กำหนดชำระใน 3 เดือน โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้อาวัลตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย ร.22 ถึง ร.24 ตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย ร.1 ถึง ร.3 และ ร.22 ถึง ร.24 ดังกล่าว มีวันออกตั๋ว จำนวนเงิน และวันถึงกำหนดชำระตรงกันคงต่างกันเฉพาะดอกเบี้ย เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวถึงกำหนดชำระ มีการขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปอีกหลายครั้ง ครั้งละ 3 เดือน มีการเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินใหม่ โดยผู้คัดค้านที่ 2 ได้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 ออก และจำเลยที่ 1 ได้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ออกทุกครั้ง และผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 ต่อมาได้มีการขอหักกลบลบหนี้ระหว่างตั๋วสัญญาใช้เงินของผู้คัดค้านที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ตามหนังสือขอหักกลบลบหนี้เอกสารหมาย ค.4 จำเลยที่ 1 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2528 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทวงหนี้ไปยังผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ให้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย ร.1 ถึง ร.3 ผู้คัดค้านที่ 1ไม่ได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนด ผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิเสธหนี้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2528 ตามเอกสารหมาย ร.4 มีปัญหาในชั้นฎีกาว่าจำเลยที่ 1 อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของผู้คัดค้านที่ 3 ที่สั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามเอกสารหมาย ร.22 -ร.24 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามคำให้การของนายสุธรรม โรจนวรกุล ผู้คัดค้านที่ 2 ตามเอกสารหมาย ร.6 คำให้การของนายเสงี่ยม กอปรัตนสุขกรรมการผู้จัดการของผู้คัดค้านที่ 1 ตามเอกสารหมาย ร.7 ได้ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า จำเลยที่ 1 มีความประสงค์ให้ผู้คัดค้านที่ 3 กู้ยืมเงิน เพราะเป็นบริษัทในเครือเดียวกันแต่ไม่สามารถกระทำได้เพราะต้องห้ามตามกฎหมาย จึงให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นตัวกลางกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 แล้วนำไปให้ผู้คัดค้านที่ 3 กู้ยืมต่ออีกทอดหนึ่ง โดยให้จำเลยที่ 1 ค้ำประกันหนี้ของผู้คัดค้านที่ 3 ต่อผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ตกลงจึงมีการกู้ยืมเงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินและอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว และตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.26 ระบุว่า นายเฉลิมชัย อุทัยสมัยรักษ์สมุห์บัญชีของผู้คัดค้านที่ 3 ได้ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ได้ติดต่อขอกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 หลายครั้ง จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ไม่สามารถให้กู้ยืมเงินได้อีกตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้คัดค้านที่ 3จึงไปกู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 3 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวตามพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยที่ 1 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 กู้ยืมเงิน แล้วผู้คัดค้านที่ 1 ให้ผู้คัดค้านที่ 3 กู้ยืมเงินนั้นต่ออีก โดยให้จำเลยที่ 1 อาวัลหนี้จำนวนนั้นต่อผู้คัดค้านที่ 1 แสดงว่าหากจำเลยที่ 1 สามารถให้ผู้คัดค้านที่ 3 กู้ยืมเงินได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อนและเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านที่ 3 ต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยมากขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 จะให้ผู้คัดค้านที่ 3 กู้ยืมเงินอีกไม่ได้เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 35 แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 ซึ่งบัญญัติว่า”ห้ามมิให้บริษัทเงินทุนให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และหรือลงทุนในกิจการของบุคคลนั้น เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ รวมกันเกินจำนวนเงินหรืออัตราส่วนกับเงินกองทุนตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ฯลฯ” ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 กู้เงินเพื่อนำไปให้ผู้คัดค้านที่ 3 กู้ยืมเงินต่อโดยวิธีการที่กล่าวมาแล้วเห็นได้ชัดว่า มีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าว อันเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองประชาชนจึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การกระทำทั้งหลายของจำเลยที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1ที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 นิติกรรมอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินไม่มีผลบังคับไม่จำเป็นต้องเพิกถอน กรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะเรียกร้องเงินกู้จำนวน 15,000,000 บาท จากผู้ร้องคัดค้านที่ 3ซึ่งมีหน้าที่จะต้องคืนเงินจำนวนนั้นแก่จำเลยที่ 1 เพราะรับเงินจำนวนนั้นไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นการทำให้จำเลยที่ 1 เจ้าของเงินเสียเปรียบ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่10/2519 ระหว่างบริษัทไทยประสิทธิประกันภัย จำกัด โจทก์นายกาญจน์ สายกัลยา กับพวก จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share