คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1890/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ออกเช็คให้เป็นการชำระหนี้ เมื่อธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้น การกระทำของจำเลยผู้ออกเช็คย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 3 แล้ว แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้ชำระเงินด้วยการโอนทรัพย์สินให้แก่โจทก์ร่วมผู้ทรงเช็ค เป็นการชำระหนี้ตามเช็คนั้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการชำระหนี้นั้นยังไม่พ้นกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ดังนี้ คดีเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ต้องพิพากษายกฟ้อง

ย่อยาว

คดีทั้ง ๕ สำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน
คดีนี้ ๔ สำนวนแรกโจทก์ฟ้องหาว่าเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงิน ๑ ฉบับ และเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๐ จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงิน ๓ ฉบับ มอบให้แก่บริษัทเกียรตินันทวัฒน์ จำกัด เป็นการชำระหนี้ค่าซื้อน้ำมัน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง ๔ ฉบับ เพราะจำเลยมีเงินในบัญชีไม่พอจ่าย และออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงิน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
จำเลยให้การปฏิเสธ และศาลชั้นต้นอนุญาตให้บริษัทเกียรตินันทวัฒน์ จำกัด เข้าเป็นโจทก์ร่วม
สำนวนที่ ๕ นางพัชรีเป็นโจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมอบอำนาจให้นายถวิล เพชรทองนำข้อความอันเป็นเท็จ เกี่ยวกับคดีอาญาไปแจ้าความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยออกเช็คไม่มีเงินจ่าย ซึ่งความจริงโจทก์ชำระเงินตามเช็คให้จำเลยแล้ว จำเลยไม่ยอมคืนเช็คให้ ทั้งนี้ เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ให้ต้องรับโทษ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓,๑๓๗,๑๗๒,๑๗๓ และ ๑๗๔
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับตราฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาคดีทั้ง ๕ สำนวนนี้เข้าด้วยกันแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยในสำนวนที่ ๕ ไม่ได้แจ้งความเท็จ เช็คตามสำนวนทั้ง ๔ จำเลยชำระให้โจทก์ร่วมแล้วจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ฯ พิพากษายกฟ้องทั้ง ๕ สำนวน
โจทก์ร่วมใน ๔ สำนวนแรก และโจทก์ในสำนวนที่ ๕ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น พิพากษายืน
โจทก์ร่วมใน ๔ สำนวนแรกฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อจำเลยออกเช็คชำระหนี้ และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ก็หมายความว่าจำเลยได้กระทำผิดทางอาญาฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนี้แล้ว ตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน การที่จำเลยได้ชำระหนี้ตามเช็คหรือชำระหนี้ตามมูลหนี้ที่ออกเช็ค หามีผลทำให้จำเลยพ้นผิดทางอาญาไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงของคดีฟังได้ว่าจำเลยได้ออกเช็ค ๔ ฉบับ ตามโจทก์ฟ้องให้โจทก์ร่วมเป็นการชำระหนี้ แล้วโจทก์ร่วมเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น ๆ ไม่ได้ เพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่าย การกระทำของจำเลยก็ย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ แล้ว แต่เรื่องนี้จำเลยยังมีทางจะพ้นผิดได้เมื่อปฏิบัติตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๓ ได้นำเงินตามจำนวนในเช็คไปชำระแก่ผู้ทรงเช็ค หรือแก่ธนาคารเพื่อจ่ายเงินตามเช็คภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ธนาคารที่มีชื่อในเช็คบอกกล่าวให้ผู้ออกเช็คได้รับทราบว่าธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน ให้คดีเป็นอันเลิกแล้วกัน ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ซึ่งทางพิจารณาสำหรับคดี ๔ สำนวนนี้ก็ฟังได้ว่าธนาคารที่มีชื่อในเช็คทั้ง ๔ ฉบับมิได้บอกกล่าวให้จำเลยผู้ออกเช็คได้รับทราบว่าธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อมาตรา๕ บัญญัติไว้ดังกล่าว และกรณีเรื่องนี้ได้ความตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า จำเลยได้ชำระเงินด้วยการโอนทรัพย์สินให้แก่โจทก์ร่วม ผู้ทรงเช็คเป็นการชำระหนี้ตามเช็คกันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการชำระนั้นก็ยังไม่พ้นกำหนดเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา ๕ เพราะธนาคารไม่ได้บอกกล่าวแก่จำเลยให้ทราบว่า ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงยังไม่อาจเริ่มนับระยะเวลา และเมื่อไม่อาจเริ่มนับระยะเวลาจึงไม่มีทางจะถือว่าพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามบทกฎหมายที่กล่าว ซึ่งศาลฎีกาก็ได้พิพากษาเป็นแบบอย่างไว้แล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๙๖/๒๕๐๗ คดีระหว่าง พนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นายอ้วงบู๊หรือชุ่งกวง แซ่ตั้ง จำเลย เรื่องผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share