คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1996/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ข้าราชการละเว้นไม่ปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติราชการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของทางราชการนั้น อาจทำให้ข้าราชการต้องรับผิดในทางวินัยก็จริง แต่จะถือเป็นหลักแน่นอนตายตัว ว่า เมื่อข้าราชการผู้ใดกระทำผิดวินัยแล้วต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 เสมอไป หาได้ไม่การที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นข้าราชการรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดต่อโจทก์นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้เห็นว่าการที่จำเลยกระทำผิดวินัยนั้นเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้โจทก์เสียหาย
จำเลยรับราชการเป็นครู อาจารย์ใหญ่ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นครูเวรรักษาการณ์ตามมติคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่ควบคุมคนยามมิให้ละทิ้งหน้าที่แต่ต้องมาอยู่เวรที่โรงเรียนและนอนในห้องที่โรงเรียนจัดไว้ คืนเกิดเหตุจำเลยไม่ได้มาอยู่เวร คงมีแต่ภารโรงทำหน้าที่เป็นคนยาม ระหว่างอยู่ยามรักษาการณ์คนยามได้หลับยาม คนร้ายจึงได้งัดเข้าไปลักทรัพย์ในโรงงานที่ 4 และที่ 6 ของโรงเรียนที่อยู่ห่างจากห้องที่ครูเวรนอนออกไปถึง 50 เมตร และ 250เมตร ตามลำดับ ซึ่งไม่อยู่ในวิสัยที่ผู้อยู่เวรจะล่วงรู้ได้ ถึงหากจำเลยจะมาอยู่เวรก็ไม่อาจป้องกันไม่ให้เกิดการลักทรัพย์ดังกล่าวขึ้นได้ เพราะไม่มีหน้าที่เป็นคนยามคอยตรวจตราเฝ้าขโมย การที่โรงเรียนถูกลักทรัพย์ จึงไม่ใช่ผลโดยตรง จากการที่จำเลยไม่มาอยู่เวร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับราชการเป็นครู อาจารย์ใหญ่ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยทำหน้าที่ครูเวรรักษาการณ์บริเวณโรงเรียนตามมติคณะรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 12 สิงหาคม 2517 เวลา 17.00 น. ถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2517 เวลา 7.30 น. โดยมีภารโรงของโรงเรียนทำหน้าที่เป็นยามรักษาการณ์ร่วมด้วย แต่จำเลยได้ละทิ้งหน้าที่ไม่มาอยู่เวรที่โรงเรียนโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอลาล่วงหน้า เพื่ออาจารย์ใหญ่จะได้จัดให้ผู้อื่นอยู่เวรแทนส่วนภารโรงซึ่งทำหน้าที่ยามในคืนเกิดเหตุได้หลับยาม เป็นเหตุให้คนร้ายถือโอกาสเข้าไปลักทรัพย์สิ่งของซึ่งเก็บไว้ภายในโรงเรียนไป จำเลยและภารโรงจะต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในทางละเมิด ภารโรงได้ทำสัญญารับสารภาพหนี้ให้แล้วจำเลยไม่ยอมทำ จึงขอให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 14,020 บาทให้โจทก์

จำเลยให้การว่า การจัดให้อยู่เวรก็เพื่อป้องกันอัคคีภัย หาใช่เพื่อป้องกันขโมยไม่ การดูแลทรัพย์สินมีเจ้าหน้าที่ยามเป็นผู้ดูแลรักษาโดยตรงอยู่แล้ว จำเลยไม่ได้ไปอยู่เวรก็เนื่องจากจำเลยป่วย การกระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิดตามกฎหมายและคดีขาดอายุความแล้ว

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 9,346.67 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลล่างได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238, 247 ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้มีว่าขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการเป็นครูโรงเรียนสังกัดกรมอาชีวศึกษา อาจารย์ใหญ่ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นครูเวรรักษาการณ์ตามมติคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ควบคุมคนยามมิให้ละทิ้งหน้าที่ แต่ต้องมาอยู่เวรที่โรงเรียนและนอนในห้องที่โรงเรียนจัดไว้ คืนเกิดเหตุจำเลยไม่ได้มาอยู่เวร คงมีแต่ภารโรงทำหน้าที่เป็นคนยาม ระหว่างอยู่ยามรักษาการณ์คนยามได้หลับยามคนร้ายจึงได้งัดเข้าไปลักทรัพย์ของโรงเรียนไปเป็นราคา 14,020 บาท ภารโรงใช้ค่าเสียหายให้หนึ่งในสามเป็นเงิน 4,673.33 บาท ส่วนที่เหลืออีกสองในสามเป็นเงิน9,346.67 บาท ที่ประชุมหัวหน้ากองกรมอาชีวศึกษาลงมติให้จำเลยชดใช้จำเลยไม่ยอมใช้ ศาลฎีกา เห็นว่าการที่ข้าราชการละเว้นไม่ปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติราชการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของทางราชการนั้น อาจทำให้ข้าราชการต้องรับผิดในทางวินัยก็จริง แต่จะถือเป็นหลักแน่นอนตายตัวว่า เมื่อข้าราชการผู้ใดกระทำผิดวินัยแล้วต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 เสมอไปหาได้ไม่ การที่จะให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดต่อโจทก์นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้เห็นว่าการที่จำเลยกระทำผิดวินัยนั้นเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้โจทก์เสียหาย การที่คนร้ายลอบเข้ามาทำการลักทรัพย์ของโรงเรียนไปครั้งนี้ ผู้เป็นต้นเหตุก่อให้เกิดผลเสียหายแก่โจทก์โดยตรงคือคนร้ายที่ทำการลักทรัพย์นั้น ผู้เป็นสาเหตุสำคัญที่เปิดโอกาสให้คนร้ายสามารถลอบเข้ามาทำการลักทรัพย์ในโรงเรียน คือคนยามซึ่งมัวหลับยามเสีย ส่วนจำเลยซึ่งไม่มาอยู่เวรที่โรงเรียนนั้นแม้จะเป็นการผิดวินัย แต่จะถือว่าเป็นสาเหตุโดยตรงทำให้โรงเรียนถูกลักทรัพย์หาได้ไม่ เพราะถึงหากจำเลยจะมาอยู่เวรที่โรงเรียน หน้าที่ของจำเลยก็มีเพียงควบคุมคนยามมิให้ละทิ้งหน้าที่ ซึ่งในคืนเกิดเหตุนั้นคนยามก็ได้มาทำหน้าที่อยู่เวรยามที่โรงเรียนอยู่แล้ว เมื่อมีคนยามทำหน้าที่ อยู่เวรยามแล้ว ครูเวรก็มีสิทธินอนในห้องนอนเวรที่ทางโรงเรียนจัดให้ไว้ เพราะครูเวรไม่มีหน้าที่ออกตรวจตราตลอดคืนดุจคนยาม ตามแผนที่เกิดเหตุ ปรากฏว่าห้องที่จัดให้ครูเวรนอนอยู่ถึงชั้นบนของอาคารเรียนสองชั้น ส่วนโรงงานหมายเลข 4 และ 6 ที่ถูกคนร้ายงัดเข้าไปทำการลักทรัพย์นั้นตั้งอยู่ห่างจากห้องที่ครูเวรนอนถึง 50 เมตร และ 250 เมตร ตามลำดับ ซึ่งไม่อยู่ในวิสัยครูผู้อยู่เวรจะล่วงรู้ได้ถึงหากจำเลยจะมาอยู่เวรที่โรงเรียนก็ไม่อาจป้องกันไม่ให้เกิดการลักทรัพย์ดังกล่าวขึ้นได้ เพราะจำเลยไม่มีหน้าที่เป็นคนยามคอยตรวจตราเฝ้าขโมย การที่โรงเรียนถูกลักทรัพย์จึงไม่ใช่ผลโดยตรงจากการที่จำเลยไม่มาอยู่เวร ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share