คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 599/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ถึงแม้ว่าหนี้ที่ขอรับชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์จะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือหนี้ที่เป็นมูลให้ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตามแต่ก็ไม่มีผลผูกพันให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลจำต้องถือตาม
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าลูกหนี้มิได้มีเจตนาซื้อและขายที่ดินและมิได้รับเงินค่าขายที่ดินไว้ลูกหนี้จึงมิใช่ผู้ประกอบการค้า ประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์ ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าและไม่มีเงินได้พึงประเมินจากการขายทรัพย์สินไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งสองประเภท ส่วนเงินได้พึงประเมินเกี่ยวกับค่าจ้างของลูกหนี้ในปี 2510 เป็นเงินประมาณ 3,000 บาทก็ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 56

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลย (ลูกหนี้) เด็ดขาดกรมสรรพากรเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีการค้าและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามมาตรา 107 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และลูกหนี้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฎีกาว่าหนี้รายนี้ต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลแพ่งว่าลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์นั้น เห็นว่าในการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเจ้าหนี้ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ก็ตาม จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 ในการนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสอบสวนในเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระ แล้วทำความเห็นเสนอศาลตามมาตรา 105 และศาลมีอำนาจพิจารณาสั่งตามมาตรา 106, 107, 108 ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลดังกล่าวมาเห็นได้ว่าแม้หนี้ที่ขอรับชำระหนี้จะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือหนี้ที่เป็นมูลให้ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเช่นคดีนี้ก็ตามก็หาผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลให้จำต้องถือตามไม่ ฎีกาเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนในปัญหาว่า หนี้ตามคำขอรับชำระหนี้รายนี้มีมูลหนี้หรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ลูกหนี้ทำงานเป็นกระเป๋ารถเมล์ของบริษัทรถเมล์แดง จำกัดได้รับค่าจ้างประมาณเดือนละ 600 บาท นายสงวน เกาะสุวรรณ์ เป็นผู้ช่วยผู้จัดการบริษัท เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2510 มีการทำหนังสือสัญญาขายที่ดินโฉนดที่ 27 และ 28 ของนายสงวนให้แก่ลูกหนี้ ในราคา 200,000 บาทและ1,000,000 บาทตามลำดับ และในวันเดียวกันนี้มีการทำหนังสือสัญญาขายที่ดิน 2 โฉนดดังกล่าวจากลูกหนี้ให้แก่นายไพบูลย์ คงเสรี อีกทอดหนึ่ง ในราคา720,000 บาท และ 3,143,200 บาท ตาม ลำดับ เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าลูกหนี้เป็นผู้ประกอบการค้าประเภทการค้า 11 แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า จึงประเมินภาษีการค้าจากยอดรายรับค่าขายที่ดิน 3,860,200 บาทไปยังลูกหนี้เป็นเงินค่าภาษีการค้า เบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลรวม 502,718.21บาท และในปี 2510 ลูกหนี้มีเงินได้จากค่าจ้างประมาณ 3,000 บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงนำเงินค่าจ้างรวมกับค่าขายที่ดินแล้วประเมินภาษีเงินได้และเงินเพิ่มไปยังลูกหนี้รวม 3,690,578 บาท ลูกหนี้อุทธรณ์การประเมินภาษีทั้งสองประเภทคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์การประเมินของลูกหนี้ทั้งหมด ให้ลูกหนี้เสียเงินเพิ่มภาษีการค้าอีกร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนนับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2513 ไปจนถึงวันชำระ ลูกหนี้ไม่ชำระและไม่มีทรัพย์สินให้ยึดเอามาขายทอดตลาดชำระค่าภาษีที่ค้างเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงฟ้องลูกหนี้ขอให้ล้มละลายเป็นคดีนี้

ทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์นำสืบว่าเจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีการค้าและภาษีเงินได้ตามหลักฐานสัญญาซื้อขายที่ดิน หนี้รายนี้เมื่อรวมกับเงินเพิ่มภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 27 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 4,963,626.39 บาท

ฝ่ายลูกหนี้นำสืบว่า เมื่อปี 2510 วันจำไม่ได้ นายสงวน เกาะสุวรรณ์พาลูกหนี้ไปกรมที่ดิน ไม่ได้บอกว่าให้ไปทำอะไร นายสงวนให้ลูกหนี้ลงลายมือชื่อในกระดาษแบบฟอร์มซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความและลูกหนี้ก็ไม่ได้อ่านรวม2 ชื่อ ลูกหนี้ลงลายมือชื่อให้เพราะเชื่อว่านายสงวน ซึ่งเป็นเจ้านายจะไม่คิดกลั่นแกล้ง ลูกหนี้ไม่ได้ซื้อที่ดินรายนี้เพราะไม่มีเงินลูกหนี้เคยถูกตำรวจกองปราบปรามสามยอดเรียกตัวไปสอบสวนเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินรายนี้ซึ่งเกี่ยวกับคดี 207 ล้าน

ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การทำสัญญาขายที่ดินโฉนดที่ 27,28 ของนายสงวน เกาะสุวรรณ์ ให้แก่ลูกหนี้ และลูกหนี้ขายที่ดิน 2 โฉนดที่ซื้อมาให้แก่นายไพบูลย์ คงเสรี กระทำขึ้นในวันเดียวกันและในเวลาต่อเนื่องกัน ที่ดิน2 โฉนดตอนที่นายสงวนขายให้แก่ลูกหนี้ราคา 200,000 บาทและ 1,000,000บาทตามลำดับ แต่ตอนที่ลูกหนี้ขายให้นายไพบูลย์ราคา 720,000 บาทและ3,143,200 บาทตามลำดับ ซึ่งราคาขายทอดตลาดหลังสูงกว่าราคาขายทอดตลาดแรกถึง 3 เท่าเศษ พฤติการณ์เช่นนี้น่าจะเป็นวิธีการทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นเพื่อประโยชน์บางอย่างยิ่งกว่าลูกหนี้จะซื้อขายที่ดินจริง ในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นายสงวนให้การว่าจำไม่ได้ว่าขายที่ดินให้แก่ใครไปอันเป็นพิรุธ เมื่อพิจารณาถึงฐานะของลูกหนี้ซึ่งมีอาชีพเป็นกระเป๋ารถเมล์มีรายได้ประมาณเดือนละ 600 บาทเท่านั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ชัดว่าลูกหนี้มิได้มีเจตนาซื้อและขายที่ดิน 2 โฉนดนี้ และมิได้รับเงินค่าขายที่ดินจำนวน 3,863,200บาทไว้ ลูกหนี้จึงมิใช่ผู้ประกอบการค้า ประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์ตามบัญชีอัตราภาษีการค้า และไม่มีเงินได้พึงประเมินจากการขายทรัพย์สิน ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งสองประเภท ส่วนเงินได้พึงประเมินเกี่ยวกับค่าจ้างของลูกหนี้ในปี 2510 เป็นเงินประมาณ 3,000 บาทก็ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 56 ตามที่วินิจฉัยมา หนี้ตามคำขอรับชำระหนี้รายนี้ไม่มีมูลหนี้”

พิพากษายืน

Share