แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ มีแต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้การยกอายุความขึ้นต่อสู้แต่เนื่องจากมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การยกอายุความขึ้นต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงถือได้ว่าเป็นการทำแทนจำเลยที่ 4 ด้วย
ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทกำหนดวันชำระเงินเมื่อทวงถามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 913(3) ประกอบกับมาตรา 985 ซึ่งอายุความจะเริ่มนับก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ใช้สิทธิทวงถามจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ออกตั๋วแล้ว เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 ส่วนการทวงถามจำเลยที่ 2 ได้ประกาศทางหนังสือพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2539 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ปีเดียวกัน จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ 3 ปี ตามมาตรา 1001
โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 30(2) ข้อกฎหมายดังกล่าวศาลรู้ได้เองโดยโจทก์ไม่ต้องสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.5 ตามที่ปรากฏในตั๋วสัญญาใช้เงิน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2536 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์จำนวน 30,000,000 บาท ครบกำหนดเมื่อทวงถามพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ชำระเป็นรายเดือนของทุกเดือน หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดได้ มีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ทุกประเภท ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 4 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน30,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตกลงชำระเป็นรายเดือน เดือนละครั้งหลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตลอดมา โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้และบังคับจำนอง แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 52,559,178.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปีของต้นเงิน 30,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 4 เนื่องจากจำเลยที่ 4 ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันและจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นหลักประกันหนี้ตามฟ้องจริง แต่โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ จำเลยที่ 4 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวและบังคับจำนองจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 55160 และ 63679 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 4 นำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 30,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16.5ต่อปี ครบกำหนดเมื่อทวงถาม ตามตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.14 มีจำเลยที่ 3และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นหลักประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.15, จ.16 และสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.17 คดีสำหรับจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ถึงที่สุดไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าต้องร่วมกันชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน พร้อมดอกเบี้ยโดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่อุทธรณ์คงมีแต่เฉพาะจำเลยที่ 4 เท่านั้นที่อุทธรณ์และฎีกาต่อมา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ 4 จะไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ คงมีแต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่อสู้ไว้ แต่เนื่องจากหนี้ของจำเลยทั้งสี่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1) บัญญัติว่า ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันในบรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้น ให้ถือว่าได้ทำโดยหรือต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมสิทธิแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ ดังนั้น การยกอายุความขึ้นต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงถือได้ว่าเป็นการทำแทนจำเลยที่ 4 ด้วย ข้อพิจารณาต่อไปมีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทกำหนดวันชำระเงินเมื่อทวงถามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 913(3) ประกอบกับมาตรา 985 ซึ่งอายุความจะเริ่มนับก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ใช้สิทธิทวงถามจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ออกตั๋วแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 ส่วนการทวงถามจำเลยที่ 2 ได้ประกาศทางหนังสือพิมพ์ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.8 ตามลำดับเมื่อ พ.ศ. 2539 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ปีเดียวกัน จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ 3 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นประการสุดท้ายมีว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ16.5 ต่อปีหรือไม่ หรือมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 เท่านั้นโดยจำเลยที่ 4 ฎีกาว่าโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวตามพระราชบัญญัติอะไร ฉบับไหน ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 4 ยอมรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นสถาบันการเงินใช้ชื่อว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 30(2)ไม่ตกอยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ข้อกฎหมายดังกล่าวศาลรู้ได้เอง โดยโจทก์ไม่ต้องสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 84 จำเลยที่ 4 ก็ไม่ได้การต่อสู้ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดไปจากประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.5 ตามที่ปรากฏในตั๋วสัญญาใช้เงิน ฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน