แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พันตำรวจตรี ท. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ดำเนินการก่อตั้งมูลนิธิตามข้อกำหนดพินัยกรรมแล้วแต่ไม่อาจจัดตั้งได้ เพราะเป็นการขัดต่อกฎหมาย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1679 วรรคท้าย บัญญัติให้ข้อกำหนดพินัยกรรมในการจัดตั้งมูลนิธินั้นเป็นอันไร้ผลและหลังจากนั้นพันตำรวจตรี ท. ได้จัดการแบ่งปันที่ดิน 3 แปลง อันเป็นทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกระบุในพินัยกรรมยกให้แก่มูลนิธิที่จะจัดตั้งขึ้นโดยโอนไปเป็นของตนเองตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2527 การจัดการมรดกรายพิพาทจึงเสร็จสิ้นลงแล้ว ส่วนข้อที่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า พันตำรวจตรี ท. ทำผิดหน้าที่ โอนที่ดิน 3 แปลงดังกล่าวไปเป็นของตนเอง ไม่ได้นำมาแบ่งปันให้แก่ทายาท เป็นการไม่ชอบนั้น ก็ชอบที่จะต้องว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อการจัดการมรดกรายพิพาทเสร็จสิ้นลงแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อดำเนินการจัดการมรดกหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 อีกต่อไป ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอจัดการมรดกเป็นคดีนี้ ปัญหานี้แม้ผู้คัดค้านทั้งสามจะไม่ได้กล่าวมาในคำคัดค้านอย่างชัดแจ้งถึงเรื่องอำนาจร้องของผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)
ย่อยาว
ผู้ร้องทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องทั้งสี่เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางเสาวลักษณ์ ผู้ร้องที่ 1 และพลเอกเกษมศักดิ์ ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางทองอยู่เจ้ามรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1712 และมาตรา 1718 ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 4
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า นางทองอยู่ เจ้ามรดก มีบุตรชาย คือ นายทวีศักดิ์ นายทวีศักดิ์ มีบุตรกับนางพัวพัน ภริยาคนแรก 3 คน คือพันตำรวจตรีเทอดไชย นายเทอดศักดิ์ และผู้คัดค้านที่ 3 พันตำรวจตรีเทอดไชย มีบุตร 2 คน คือผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นอกจากนี้นายทวีศักดิ์ยังมีบุตรกับนางวิไล ภริยาคนที่สองอีก 4 คน คือผู้ร้องทั้งสี่ ตามผังเครือญาติ นายทวีศักดิ์ถึงแก่ความตายในปี 2518 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2520 ตั้งพันตำรวจตรีเทอดไชย และผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดก เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2521 หลังจากนั้นพันตำรวจตรีเทอดไชย ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกเพียงลำพังคนเดียวเนื่องจากขณะนั้นผู้คัดค้านที่ 3 อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่สามารถติดต่อได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้พันตำรวจตรีเทอดไชย เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2522 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 700/2552 ของศาลชั้นต้น ตามพินัยกรรมนอกจากจะมีข้อกำหนดให้แบ่งทรัพย์สินแก่บุคคลใดบ้างแล้ว เจ้ามรดกยังกำหนดไว้ในข้อ 12 ให้ผู้จัดการมรดกดำเนินการจดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิทองอยู่ ปลูกสวัสดิ์ และจัดผลประโยชน์ของมูลนิธิตามวัตถุประสงค์ โดยระบุให้ยกทรัพย์สินอันเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในข้อ 2 ฉ. ข้อ 3 และข้อ 8 แก่มูลนิธิที่จะจัดตั้งขึ้น ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 กับพันตำรวจตรีเทอดไชย และผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ต่างมีชื่อเป็นผู้รับพินัยกรรมของเจ้ามรดก โดยเฉพาะในข้อ 11 ของพินัยกรรมระบุว่า ให้ที่ดินและทรัพย์สินของเจ้ามรดกนอกเหนือจากระบุไว้ในพินัยกรรมที่มีอยู่ขณะมีชีวิตหรือจะได้มาในภายหลังยกให้แก่พันตำรวจตรีเทอดไชย พันตำรวจตรีเทอดไชยถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2552 โดยมีผู้คัดค้านที่ 1 กับนางนิสากร ซึ่งเป็นภริยาพันตำรวจตรีเทอดไชยและมารดาผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก ตามคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้กับข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ผู้ร้องที่ 3 และที่ 4 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียตามพินัยกรรมที่จะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก และเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ยังไม่มีการจัดตั้งมูลนิธิตามข้อกำหนดพินัยกรรม พันตำรวจตรีเทอดไชยในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งทรัพย์สินตามข้อกำหนดอื่นในพินัยกรรมเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนที่ดิน 3 แปลง อันเป็นทรัพย์สินตามข้อกำหนดพินัยกรรมในข้อ 2 ฉ. ข้อ 3 และข้อ 8 ดังกล่าวมา พันตำรวจตรีเทอดไชยได้โอนไปเป็นของตนเองในเดือนสิงหาคม 2527
พิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า การจัดการมรดกรายพิพาทเสร็จสิ้นลงแล้วหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องที่ 1 ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 26715 เลขที่ดิน 758 ตำบลบ้านช่างหล่อ (บางเสาธง) อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร หรือที่ดินพร้อมตึกแถวห้องที่ 5 และ 6 อันเป็นทรัพย์ตามข้อกำหนดพินัยกรรมในข้อ 2 ข. จากพันตำรวจตรีเทอดไชยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกในปี 2523 ผู้ร้องที่ 2 ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 26716 เลขที่ดิน 757 และที่ดินโฉนดเลขที่ 26717 เลขที่ดิน 754 ตำบลบ้านช่างหล่อ (บางเสาธง) อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร หรือที่ดินพร้อมตึกแถวห้องที่ 1 ถึง 4 อันเป็นทรัพย์ตามข้อกำหนดพินัยกรรมในข้อ 2 ก. จากพันตำรวจตรีเทอดไชยฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกในปี 2524 และในปี 2523 ตามลำดับ ขณะที่ผู้ร้องที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้รับทรัพย์สินของเจ้ามรดกเลยทั้ง ๆ ที่ต่างเป็นหลานย่าของเจ้ามรดกด้วยกัน บ่งบอกว่าผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ต้องรู้ว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้นเป็นไปตามข้อกำหนดพินัยกรรมของเจ้ามรดก ชี้ให้เห็นว่าผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 รู้ถึงข้อความในพินัยกรรมของเจ้ามรดกอันรวมถึงข้อกำหนดให้ผู้จัดการมรดกก่อตั้งมูลนิธิขึ้นมาตั้งแต่ปี 2523 แล้ว ทั้งที่อ้างว่าเคยสอบถามความคืบหน้าของการก่อตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรมกับพันตำรวจตรีเทอดไชย ซึ่งได้รับคำตอบว่าไม่ให้มายุ่ง แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการคัดค้านการจัดการมรดกของเจ้ามรดกโดยพันตำรวจตรีเทอดไชยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนกระทั่งพันตำรวจตรีเทอดไชยถึงแก่ความตายในปี 2552 ก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพิ่งจะมีการกล่าวอ้างโดยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกต่อศาลชั้นต้นในปี 2557 เมื่อนับจากที่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 รู้ถึงข้อกำหนดพินัยกรรมมา เวลาก็ล่วงเลยผ่านไปถึง 34 ปี โดยไม่มีการคัดค้านมาก่อน กรณีกลับปรากฏว่า ในวันที่ 17 สิงหาคม 2527 พันตำรวจตรีเทอดไชยได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อย ในการขอรับโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1850 ตำบลบ้านช่างหล่อ (บางเสาธง) อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นทรัพย์ตามข้อกำหนดพินัยกรรมในข้อ 2 ฉ. ที่เจ้ามรดกระบุยกให้แก่มูลนิธิทองอยู่ ปลูกสวัสดิ์ ที่จะจัดตั้งขึ้น ให้แก่ตนเองว่า พันตำรวจตรีเทอดไชยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้ไปยื่นขอจัดตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2520 โดยระบุวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม แต่จัดตั้งไม่ได้ ซึ่งได้ไปขอจัดตั้งมา 2 ครั้งแล้ว เนื่องจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ แจ้งว่าขัดต่อกฎหมาย ดำเนินการให้ไม่ได้ พันตำรวจตรีเทอดไชยประสงค์โอนที่ดินแปลงที่อ้างถึงข้างต้นให้แก่ตนเอง ตามข้อกำหนดพินัยกรรมในข้อ 11 ตามบันทึกถ้อยคำ และนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของมูลนิธิที่จะก่อตั้งขึ้นในเรื่องให้ทุนการศึกษา การศาสนา การช่วยเหลือผู้ยากไร้ และเงินบำรุงแก่โรงพยาบาล ตามข้อกำหนดพินัยกรรมในข้อ 12 แล้วยังมีข้อกำหนดพินัยกรรมในข้อ 3 ด้วยว่า ให้มูลนิธิแบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากการเก็บผลประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินแปลงนี้ (ที่ดินโฉนดเลขที่ 528 ตำบลสามยอด อำเภอสามเพ็ง กรุงเทพมหานคร ) ให้แก่นายเทอดศักดิ์ เด็กหญิงวรรณทิพย์ และเด็กหญิงวริศรา เดือนละ 2,000 บาท 1,000 บาท และ 1,000 บาท ตามลำดับ ใช้จ่ายตลอดชีวิต ที่ผู้คัดค้านทั้งสามระบุว่าเป็นข้อขัดข้องที่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าขัดต่อกฎหมายรับดำเนินการให้ไม่ได้ เพราะการจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิต้องไม่ใช่เป็นการหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลใดนอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ว่าด้วยมูลนิธิ ตั้งแต่มาตรา 81 (เดิม) ถึงมาตรา 97 (เดิม) ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ก็แตกต่างกับบรรพ 1 ว่าด้วยมูลนิธิตั้งแต่มาตรา 110 ถึงมาตรา 136 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ที่กำหนดให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำขอหรือข้อบังคับในการขอจดทะเบียนมูลนิธิ หรือผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ ดังนี้ รูปคดีจึงเชื่อว่าพันตำรวจตรีเทอดไชยในฐานะผู้จัดการมรดกได้ดำเนินการก่อตั้งมูลนิธิตามข้อกำหนดพินัยกรรมแล้ว แต่ไม่อาจจัดตั้งได้ เพราะเป็นการขัดต่อกฎหมาย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1679 วรรคท้าย บัญญัติให้ข้อกำหนดพินัยกรรมในการจัดตั้งมูลนิธินั้นเป็นอันไร้ผลและหลังจากนั้นพันตำรวจตรีเทอดไชยได้จัดการแบ่งปันที่ดิน 3 แปลง อันเป็นทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกระบุในพินัยกรรมยกให้แก่มูลนิธิที่จะจัดตั้งขึ้นโดยโอนไปเป็นของตนเองตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2527 การจัดการมรดกรายพิพาทจึงเสร็จสิ้นลงแล้ว ส่วนข้อที่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า พันตำรวจตรีเทอดไชยทำผิดหน้าที่โอนที่ดิน 3 แปลง ดังกล่าวไปเป็นของตนเอง ไม่ได้นำมาแบ่งปันให้แก่ทายาท เป็นการไม่ชอบนั้น ก็ชอบที่จะต้องว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อการจัดการมรดกรายพิพาทเสร็จสิ้นลงแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อดำเนินการจัดการมรดกหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 อีกต่อไป ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอจัดการมรดกเป็นคดีนี้ ปัญหานี้แม้ผู้คัดค้านทั้งสามจะไม่ได้กล่าวมาในคำคัดค้านอย่างชัดแจ้งถึงเรื่องอำนาจร้องของผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่มีการยื่นคำร้องขอคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ