คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1872/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คืนเกิดเหตุอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จำเลยที่ 3 เมาสุราแล้วอาเจียนจำเลยที่ 1จอดรถให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลง แล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 พากันเข้าไปนั่งที่ม้านั่งหน้าบ้านผู้เสียหายซึ่งประตูรั้วบ้านเปิดอยู่ พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการถือวิสาสะ เพราะความมึนเมาสุราและไม่สามารถบังคับจิตใจตนเองได้ เมื่อนั่งอยู่ประมาณ 5 นาที อาจจะด้วยความคึกคะนอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงลุกขึ้นและเดินไปเอามือจับแฮนด์รถจักรยานยนต์ โดยยังไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำการใดอันมีลักษณะที่จะติดเครื่องยนต์รถจักรยานยนต์ และไม่ปรากฏว่าพบเครื่องมือใด ๆ ในตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอฟังว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีเจตนาบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน และลงมือกระทำความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 2และที่ 3 กระทำความผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควรแล้วจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันเข้าไปในบริเวณบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันลักเอารถจักรยานยนต์จำนวน 2 คัน ของผู้มีชื่อซึ่งรถทั้งสองคันเก็บไว้ในเคหสถานดังกล่าว จำเลยทั้งสามลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะเจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นการกระทำความผิดเสียก่อนจำเลยทั้งสามจึงไม่สามารถลักเอารถจักรยานยนต์ทั้งสองคันไปได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 83, 91, 335, 364, 365

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสาม (ที่ถูกวรรคสอง) ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 365(3)ประกอบมาตรา 364, 86 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสาม (ที่ถูกวรรคสอง) ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 365(3)ประกอบมาตรา 364, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนความผิดฐานบุกรุก (ที่ถูกฐานพยายามลักทรัพย์) และลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานบุกรุกซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3คนละ 3 ปี

จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีจ่าสิบตำรวจฉลอง บัวบาน และสิบตำรวจตรีมานิตย์ หวานช่วย เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพัทลุงเบิกความว่า ในคืนเกิดเหตุพยานทั้งสองออกตรวจท้องที่ภายในเขตเทศบาลเมืองพัทลุงเมื่อเวลาประมาณ 2 นาฬิกา ได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารจากนายสุชาติ แสงอ่อน อาสาสมัครตำรวจชุมชน แจ้งให้ทราบว่ามีชายวัยรุ่น 3 คน ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ เป็นชายแปลกหน้ามีพฤติการณ์พิรุธขับรถจักรยานยนต์วนผ่านไปมาตามถนนปากแพรกรวม2 ถึง 3 เที่ยว เมื่อได้รับแจ้งดังกล่าว พยานทั้งสองก็เดินทางไปพบนายสุชาติซึ่งอยู่บริเวณหน้าร้านสวนอาหารกันเอง ห่างจากบ้านผู้เสียหายประมาณ 20 เมตร ยืนคุยกันอยู่ประมาณ10 นาที หลังจากนั้นก็เห็นจำเลยทั้งสามโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถจักรยานยนต์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั่งซ้อนท้ายผ่านมา จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปจอดบริเวณหน้าบ้านผู้เสียหายจากนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงจากรถจักรยานยนต์แล้วเดินเข้าไปนั่งที่ม้านั่งบริเวณหน้าบ้านผู้เสียหาย พยานทั้งสองไปซุ่มแอบดูอยู่บริเวณริมรั้ว ขณะนั้นผู้เสียหายปิดประตูบ้านนั่งดูโทรทัศน์กันอยู่ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั่งอยู่ประมาณ 5 นาที ก็เดินไปที่รถจักรยานยนต์ 2 คัน ซึ่งจอดอยู่ภายในรั้วบ้านผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างคนต่างเอามือไปจับที่แฮนด์รถจักรยานยนต์แต่ละคัน จ่าสิบตำรวจฉลองจึงร้องตะโกนว่า ทำอะไรกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 หันมามองจ่าสิบตำรวจฉลองแล้วออกวิ่งหนีไปทางประตู ต่อมาพยานทั้งสองขอกำลังเจ้าพนักงานตำรวจมาสนับสนุนแล้ววิ่งไล่ตามจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้ได้ และติดตามจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ในเวลาต่อมาชั้นจับกุมแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสามว่าร่วมกันพยายามลักทรัพย์ในเวลากลางคืนและบุกรุกเคหสถานผู้อื่นในเวลากลางคืน จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ นางอุไร ฤทธาภิรมย์ ผู้เสียหายเบิกความว่า คืนเกิดเหตุได้ยินเสียงคนเมาพูดเสียงดัง จึงเปิดประตูบ้านแง้มออกมาดูเห็นบริเวณปากซอยตรงข้ามบ้านมีคนอยู่ 4 ถึง 5 คน ต่อมามีเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งว่ามีกลุ่มวัยรุ่นจะลักรถจักรยานยนต์ โดยเห็นมีเด็กคนหนึ่งขึ้นนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งว่าจับกุมตัวได้แล้ว แต่ในขณะนั้นผู้เสียหายไม่เห็นคนร้ายที่เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งว่าจับกุมไว้แล้ว และผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1ถามค้านว่า ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจมาเรียกสอบถามว่าเห็นคนร้ายในคืนเกิดเหตุหรือไม่ผู้เสียหายตอบว่าไม่เห็น แต่เห็นกลุ่มวัยรุ่นคล้ายคนเมาสุราอยู่ที่ปากซอย เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้พูดอะไร นางอุไรจึงปิดประตูบ้าน เห็นว่า ในคืนเกิดเหตุบริเวณหน้าบ้านผู้เสียหายเปิดไฟสว่างและผู้เสียหายกับเพื่อนและลูก ๆ นั่งดูโทรทัศน์อยู่ภายในบ้านซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียว และบริเวณใกล้เคียงก็ยังมีร้านอาหารเปิดบริการอยู่ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มาจอดหน้าบ้าน และจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าไปนั่งอยู่หน้าบ้านผู้เสียหาย แล้วต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เดินไปจับแฮนด์รถจักรยานยนต์ 2 คัน ที่จอดอยู่หน้าบ้านผู้เสียหาย โดยยังไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำการใดอันมีลักษณะที่จะติดเครื่องยนต์รถจักรยานยนต์ อีกทั้งเจ้าพนักงานตำรวจก็จับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยไม่ปรากฏว่าพบเครื่องมือใด ๆ ในตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประกอบกับจำเลยทั้งสามก็เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ขณะที่จำเลยทั้งสามนั่งรถจักรยานยนต์มาด้วยกัน โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับจำเลยที่ 3 ซึ่งมีอาการเมาได้อาเจียนเปื้อนเสื้อจำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 1 จึงจอดรถให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงเพื่อให้จำเลยที่ 3 อาเจียนที่บริเวณเสาไฟฟ้าซึ่งอยู่ใกล้บ้านผู้เสียหาย แล้วจำเลยที่ 1 ก็ขับรถออกไปเพื่อที่จะไปล้างเสื้อที่สถานีบริการน้ำมัน ซึ่งคำเบิกความของจำเลยทั้งสามเจือสมกับคำเบิกความของผู้เสียหายพยานโจทก์ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าในคืนเกิดเหตุอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จำเลยที่ 3เมาสุราแล้วอาเจียน จำเลยที่ 1 จอดรถให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงแล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3พากันเข้าไปนั่งที่ม้านั่งหน้าบ้านผู้เสียหาย ซึ่งประตูรั้วบ้านเปิดอยู่ พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการถือวิสาสะเพราะความมึนเมาสุราและไม่สามารถบังคับจิตใจตนเองได้ เมื่อนั่งอยู่ประมาณ 5 นาที อาจจะด้วยความคึกคะนอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงลุกขึ้นและเดินไปเอามือจับแฮนด์รถจักรยานยนต์ แต่จ่าสิบตำรวจฉลองพยานโจทก์ร้องตะโกนเสียก่อนว่าทำอะไรกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงวิ่งหนีไป พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีเจตนาบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนและลงมือกระทำความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย จึงไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share