คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1871-1872/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลฎีกาได้พิพากษาให้โจทก์แบ่งที่ดินในโฉนดให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในสำนวนแรกและแบ่งให้แก่นาง พ. มารดาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนหลัง ต่อมาโจทก์และจำเลย ได้พิพาทกันในชั้นบังคับคดี เกี่ยวกับการรังวัดแบ่งแยกที่ดินในโฉนดดังกล่าว ว่ารังวัด แบ่งแยกถูกต้องตรงตามคำพิพากษาฎีกาหรือไม่ศาลชั้นต้นได้นัด พร้อมทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าตรงที่พิพาทด้านเหนือให้ เจ้าพนักงานรังวัด แบ่งให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองสำนวน นี้เพียงแค่ติดสวนของโจทก์ เมื่อช่างแผนที่ไปรังวัด แบ่งแยกเสร็จแล้วโจทก์ไม่รับรองศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ารูปแผนที่แบ่งแยกซึ่งช่างแผนที่ทำมานั้นถูกต้องตรงกับข้อตกลงของโจทก์ จำเลยแล้ว มีคำสั่งให้แบ่งแยกที่พิพาทให้จำเลยทั้งสองสำนวน ตามรูปแผนที่แบ่งแยกดังกล่าวคดีถึงที่สุดฉะนั้นที่โจทก์ฟ้องคดี ทั้งสองสำนวนนี้ว่า จำเลยทั้งสองสำนวนได้สมคบกันออกรูปแผนที่ หลังโฉนดซึ่ง เป็นที่พิพาทกันในคดีก่อนขัดกับคำพิพากษาฎีกา เป็นเหตุให้ ที่ดินของโจทก์ขาดไป. จึงเป็นการโต้เถียงว่า การรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทไม่ถูกต้องตรงตามคำพิพากษาฎีกาอัน เป็นประเด็นเดียวกัน กับประเด็นที่โจทก์จำเลยพิพาทกันใน ชั้นบังคับคดี ซึ่งได้มีคำพิพากษา หรือคำสั่งถึงที่สุดดังกล่าว แล้ว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องคดีทั้งสองสำนวนมีใจความทำนองเดียวกันว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1488 เมื่อ พ.ศ. 2500 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในสำนวนแรกและนางพุดมารดาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในสำนวนหลังได้ฟ้องขอให้ศาลสั่งว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าว เนื้อที่ 52 ไร่เศษ โดยการครอบครอง ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้โจทก์แบ่งที่ดินให้ ในชั้นบังคับคดีได้พิพาทกันเรื่องการรังวัดออกโฉนดตามคำพิพากษาศาลฎีกามีการจัดทำแผนที่พิพาทในชั้นบังคับคดี และศาลฎีกาพิพากษาว่าแผนที่พิพาทที่ทำขึ้นถูกต้อง ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในสำนวนแรกและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในสำนวนหลังได้ยื่นคำขอรังวัดและขึ้นรูปแผนที่หลังโฉนดไว้โดยไม่ทำการรังวัดตรงตามแผนที่พิพาทจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในสำนวนแรกได้รังวัดด้านทิศเหนือรุกล้ำที่ดินของโจทก์ 5 ไร่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ในสำนวนหลังได้รังวัดด้านทิศเหนือรุกล้ำที่ดินโจทก์ 1 ไร่ 1 งานจำเลยที่ 6 ในสำนวนแรกและจำเลยที่ 3 ในสำนวนหลังซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินได้สมคบกันออกรูปแผนที่หลังโฉนด อันเป็นการรังวัดแบ่งแยกขัดกับคำพิพากษาฎีกาและขัดต่อกฎหมายและระเบียบแบบแผน ขอให้ศาลพิพากษาว่า เฉพาะรูปแผนที่ที่ดินที่รังวัดหลังโฉนดที่ดินที่ออกให้แก่จำเลยเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมายให้จำเลยทำการรังวัดรูปแผนที่หลังโฉนดดังกล่าวใหม่ ให้ตรงตามรูปแผนที่พิพาทหากจำเลยไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ให้จำเลยในสำนวนแรกใช้ค่าเสียหาย1,500,000 บาท จำเลยในสำนวนหลังใช้ค่าเสียหาย 375,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินโดยสุจริตและตามระเบียบแบบแผน ไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาฎีกาถูกต้องตามข้อตกลงของโจทก์และจำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ และคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนเป็นฟ้องซ้ำ และคดีของโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องและคำให้การฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1488ตำบลคลองราชาเทวะ อำเภอบางปลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ประมาณ 123 ไร่เดิมมีชื่อโจทก์เป้นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อ พ.ศ. 2500 นางพุด บางเทศธรรม มารดาจำเลยที่ 1ที่ 2 ในสำนวนหลังและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในสำนวนแรกได้ฟ้องโจทก์ขอให้ศาลสั่งว่าที่ดินเฉพาะส่วนในที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นของพวกจำเลย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 120 – 121/2501 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1194 – 1195/2504 ให้โจทก์แบ่งที่ดินในโฉนดเลขที่ดังกล่าวให้แก่พวกจำเลย เนื้อที่ 52 ไร่ 3 งานเศษ หากโจทก์ไม่จัดการแบ่ง ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ในข้อบังคับคดี โจทก์และจำเลยสำนวนแรกและนางพุด บางเทศธรรม พิพาทกันเกี่ยวกับการรังวัดแบ่งแยกที่ดินในโฉนดดังกล่าวโดยโจทก์คัดค้านว่า จำเลยทั้งสองสำนวนนำชี้ให้ช่างแผนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการรังวัดที่ดินแบ่งแยกไม่ตรงกับข้อตกลง ศาลชั้นต้นเผชิญสืบที่พิพาทแล้ว วินิจฉัยชี้ขาดว่า จำเลยทั้งสองสำนวนนำชี้และช่างแผนที่ทำแผนที่ถูกต้องให้เแบ่งแยกที่ดินไปตามที่ที่ช่างแผนที่รังวัดและส่งรูปแผนที่ต่อศาล คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาฎีกาที่ 183 – 184/2510 ต่อมาโจทก์ได้ยื่นฟ้องกรมที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดสมุทรปราการ นางพุด บางเทศธรรม กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4และที่ 5 ในสำนวนแรก ขอให้เพิกถอนการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1488 ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการได้ทำขึ้น โดยอ้างว่า จำเลยในคดีดังกล่าวสมคบกันรังวัดโดยมิชอบ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 239/2512 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีถึงที่สุด โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของโจทก์เป็นการคัดค้านคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลฎีกา ซึ่งได้เคยพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วโจทก์จะฎีกาคัดค้านเช่นนี้อีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ปรากฏตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1544/2517
คดีมีปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนนี้ เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนหรือไม่พิะเคราะห์แล้วเห็นว่า สำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 120 – 121/2501 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1194 – 1195/2504 พิพากษาให้จำเลย (โจทก์ทั้งสองสำนวนนี้)แบ่งที่ดินในโฉนดเลขที่ 1488 ตำบลคลองราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการให้แก่นางพุด บางเทศธรรม มารดาจำเลยสที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนหลังและแบ่งแยกให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวตามจำนวนเนื้อที่ที่โจทก์ในคดีดังกล่าวครอบครองอยู่ ในชั้นบังคับคดีแบ่งแยกที่ดินตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว โจทก์และจำเลยได้พิพาทกันเกี่ยวกับการรังวัดแบ่งแยกที่ดินในโฉนดดังกล่าวว่ารังวัดแบ่งแยกถูกต้องตรงตามคำพิพากษาฎีกาหรือไม่ ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้นัดพร้อมและสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า ตรงที่พิพาทด้านเหนือให้เจ้าพนักงานรังวัดแบ่งให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์(จำเลยทั้งสองสำนวนนี้) เพียงแค่ติดสวนของจำเลย (โจทก์ทั้งสองสำนวนนี้) เท่านั้นไม่รังวัดเข้าไปในสวนและถือคันนาเป็นแนวเขตที่ดินที่พิพาทกัน ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา วันที่ 9 สิงหาคม 2505 ต่อมาเมื่อช่างแผนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการไปรังวัดแบ่งแยกใหม่เสร็จแล้วและส่งรูปแผนที่แบ่งแยกมายังศาลจังหวัดสมุทรปราการ แต่จำเลย (โจทก์ทั้งสองสำนวนนี้) ไม่รับรองแผนที่โดยอ้างว่าฝ่ายโจทก์ (จำเลยทั้งสองสำนวนนี้) นำรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่สวนของจำเลย(โจทก์ทั้งสองสำนวนนี้) ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ออกไปตรวจดูที่พิพาทและทำบันทึกไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 10 กันยายน 2506 โจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานในชั้นบังคับคดีต่อไป ศาลจังหวัดสมุทรปราการวินิจฉัยว่ารูปแผนที่แบ่งแยกในสำนวนสารบาญ อันดับ 214 ซึ่งช่างแผนที่สำนักงานที่ดินทำมานั้นถูกต้องตรงกับข้อตกลงของโจทก์ จำเลย ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 9 สิงหาคม 2505 แล้วจึงมีคำสั่งให้แบ่งแยกที่พิพาทให้โจทก์ (จำเลยทั้งสองสำนวนนี้) ตามรูปแผนที่แบ่งแยกดังกล่าว คดีถึงที่สุด จึงเห็นได้ว่า ประเด็นที่โจทก์จำเลยพิพาทกันว่าการรังวัดแบ่งแยกที่พิพาทตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1194 – 1195/2504 ถูกต้องหรือไม่นั้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้น ที่โจทก์ฟ้องคดีทั้งสองสำนวนนี้ว่าจำเลยทั้งสองสำนวนได้สมคบกันออกรูปแผนที่หลังโฉนดเลขที่ 17363 และเลขที่ 17364ซึ่งเป็นที่พิพาทในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 120 – 121/2501 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการขัดกับคำพิพากษาฎีกาที่ 1194 – 1195/2504 โดยหักเนื้อที่ส่วนที่ถูกตัดเป็นถนนสาธารณะออกเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ขาดไป 6 ไร่ 1 งาน จึงเป็นการโต้เถียงว่า การรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทไม่ถูกต้องตรงตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1194 – 1195/2504 อันเป็นประเด็นเดียวกันกับประเด็นที่โจทก์จำเลยพิพาทกันในชั้นบังคับคดีในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 120 – 121/2501 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการและได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดดังกล่าวแล้ว จึงต้องห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ฎีกาโจทก์เกี่ยวกับเรื่องอายุความจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองให้วดสืบพยานของคู่ความและพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share