คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 ทวิ บัญญัติว่า “ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 22 ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา… หรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป” โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์พร้อมกับแนบหนังสือรับรองของอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 และหนังสือมอบหมายของอัยการสูงสุดให้อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงมีอำนาจรับรองอุทธรณ์แทนมาท้ายอุทธรณ์ และในตอนท้ายของอุทธรณ์มีข้อความระบุไว้ด้วยว่า คดีนี้อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้ลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยได้ลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์แล้ว ตามหนังสือแนบท้ายอุทธรณ์นี้ แม้ในตอนท้ายของอุทธรณ์ดังกล่าวจะมิได้ระบุว่าให้ถือว่าหนังสือรับรองเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ดังกล่าวก็ย่อมถือได้แล้วว่าหนังสือรับรองแนบท้ายอุทธรณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์และอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ได้ลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ตามความประสงค์ของกฎหมายแล้ว ทั้งมาตรา 22 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ ก็มิได้บัญญัติว่าการรับรองอุทธรณ์จะต้องระบุวันเดือนปีที่ทำการรับรองและต้องมีรายละเอียดของเหตุผลที่สมควรให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีดังกล่าวแต่ประการใด ดังนั้น เมื่อข้อความในหนังสือรับรองแสดงให้เห็นชัดเจนว่าอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ารูปคดีนี้มีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย จึงรับรองอุทธรณ์คดีนี้ หนังสือรับรองดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าให้แก่ผู้เสียหายรวม 42 ฉบับ รวมเป็นเงินจำนวน 196,876 บาท เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนด ผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” “เงินในบัญชีไม่พอจ่าย” และ “มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย” ทั้งนี้ จำเลยได้ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น และห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (ที่ถูกมาตรา 4 (1) (3) (5)) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 42 กระทง เป็นจำคุก 42 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 21 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดได้ลงลายมือชื่อรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ เนื่องจากมิได้ลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ แต่ทำหนังสือรับรองแยกต่างหากจากอุทธรณ์ของโจทก์ ถือไม่ได้ว่ามีการรับรองให้อุทธรณ์โดยชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามมาตรา 22 ทวิ ดังกล่าวบัญญัติว่า “ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 22 ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา… หรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป” ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์พร้อมกับแนบหนังสือรับรองของอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 และหนังสือมอบหมายของอัยการสูงสุดให้อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงมีอำนาจรับรองอุทธรณ์แนบมาท้ายอุทธรณ์ และในตอนท้ายของอุทธรณ์มีข้อความระบุไว้ด้วยว่า คดีนี้อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้ลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยได้ลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์แล้ว ตามหนังสือแนบท้ายอุทธรณ์นี้ แม้ในตอนท้ายของอุทธรณ์ดังกล่าวจะมิได้ระบุว่าให้ถือว่าหนังสือรับรองเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ดังกล่าวก็ย่อมถือได้แล้วว่าหนังสือรับรองแนบท้ายอุทธรณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์และอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ได้ลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ตามความประสงค์ของกฎหมายแล้ว ทั้งมาตรา 22 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ก็มิได้บัญญัติว่าการรับรองอุทธรณ์จะต้องระบุวันเดือนปีที่ทำการรับรองและต้องมีรายละเอียดของเหตุผลที่สมควรให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีดังกล่าวแต่ประการใด ดังนั้น เมื่อข้อความในหนังสือรับรองแสดงให้เห็นชัดเจนว่าอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ารูปคดีนี้มีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย จึงรับรองอุทธรณ์คดีนี้ หนังสือรับรองดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้วและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาประการต่อไปว่า ผู้เสียหายนำเช็คที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและมอบให้ผู้เสียหายไว้เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้ามากรอกจำนวนเงินและลงวันที่สั่งจ่ายเองโดยไล่เรียงวันที่สั่งจ่ายต่อเนื่องกันจนแทบไม่มีช่วงเวลาว่างให้ผู้ออกเช็คมีเวลาหาเงินมาเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ตามเช็ค จึงอนุมานได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาในการกระทำความผิดนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงขัดกับคำรับสารภาพของจำเลยจึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า เช็คพิพาทที่จำเลยออกชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายมีจำนวนเงินรวมกันถึง 196,876 บาท แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลล่างทั้งสองจำเลยไม่เคยผ่อนชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้เสียหายเลย พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหาย เพื่อบรรเทาผลร้ายในความผิดที่ได้กระทำอย่างจริงจัง การที่จำเลยนำเงินมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายจำนวน 20,000 บาท ก็เป็นการกระทำภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้ว แสดงว่าจำเลยกระทำเพื่อจุดประสงค์อื่นไม่ใช่บรรเทาผลร้ายให้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รอการลงโทษจำคุกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่เนื่องจากจำนวนเงินตามเช็คพิพาทแต่ละฉบับมีจำนวนไม่มากนัก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดโทษจำคุกจำเลยก่อนลดโทษให้กระทงละ 1 เดือนนั้นหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกกระทงละ 5 วัน รวม 42 กระทง เป็นจำคุก 210 วัน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 105 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share