คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1798/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว เพราะความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดคนละฐานกัน จะลงโทษจำเลยทั้งสามทั้งสองฐานความผิดดังกล่าวย่อมไม่ได้ คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามที่ว่า ขอให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการนั้นไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดฐานใด แม้จะปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่าในชั้นสอบสวน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสามให้การชั้นสอบสวนอย่างไรไม่เกี่ยวข้องกับคำให้การในชั้นพิจารณาของจำเลยทั้งสาม กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าการที่จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการนั้นเป็นการให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ดังนี้ เมื่อคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามไม่สามารถรับฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะพิพากษาไปได้โดยไม่สืบพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสาม เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานศาลจึงลงโทษจำเลยทั้งสามไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2547 เวลากลางวัน มีคนร้ายหลายคนร่วมกันลักเหล็กกล่องสี่เหลี่ยม ขนาดกว้างด้านละ 1 นิ้ว ยาว 6 เมตร จำนวน 3 เส้น ราคา 600 บาท ของนายวิโรจน์ พรหมพฤกษ์ ผู้เสียหายไปโดยทุจริต เหตุลักทรัพย์เกิดที่ตำบลบ้านแป้น อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ต่อมาตามวันดังกล่าวภายหลังเวลาที่มีการลักทรัพย์ไปแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมทรัพย์ที่ถูกลักไปเป็นของกลาง ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสามเป็นคนร้ายที่ร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างไปเสียเอง หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสามร่วมกันรับทรัพย์นั้นไว้ โดยจำเลยทั้งสามรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ แล้วจำเลยทั้งสามช่วยพาเอาไปเสีย และช่วยจำหน่ายซึ่งทรัพย์ดังกล่าว เหตุรับของโจรเกิดที่ตำบลบ้านแป้น อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เกี่ยวพันกัน ทรัพย์ของกลางผู้เสียหายได้รับคืนไปแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 357
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพตามฟ้อง
โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จะลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานลักทรัพย์ได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดเจนว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่อจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการจึงเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างแล้ว และคดีนี้มีอัตราโทษขั้นต่ำจำคุกไม่ถึง 5 ปี ศาลชั้นต้นชอบที่จะใช้ดุลพินิจในการรับฟังข้อเท็จจริงและลงโทษจำเลยทั้งสามในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างได้โดยไม่จำต้องสืบพยานโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว เพราะความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดคนละฐานกัน จะลงโทษจำเลยทั้งสามทั้งสองฐานความผิดดังกล่าวย่อมไม่ได้ คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามที่ว่า ขอให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการนั้น ไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดฐานใด แม้จะปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสามให้การชั้นสอบสวนอย่างไรไม่เกี่ยวข้องกับคำให้การในชั้นพิจารณาของจำเลยทั้งสาม กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า การที่จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการนั้น เป็นการให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างดังที่โจทก์ฎีกา ดังนี้ เมื่อคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามไม่สามารถรับฟังได้แน่ชัดว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะพิพากษาไปได้โดยไม่สืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสาม เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานศาลจึงลงโทษจำเลยทั้งสามไม่ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจท์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share